‘ก้าวไกล’ ถาม ‘รัฐบาล’ ปมแลนด์บริดจ์ ต้องตอบให้ได้ถึงความคุ้มค่าในการลงทุนและการจูงใจตต่างประเทศ ก่อนแนะผลการศึกษาที่ สนข.กำลังทำต้องเป็นกลาง และจริงจัง อย่าวาทกรรม ด้าน ‘มนพร’ แจงรัฐบาลรับฟังทุกความเห็นทั้งหนุน-ต้าน ยืนยันผลการศึกษาจะรอบด้าน ครบทุกมิติแน่นอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์”
นายสุรเชษฐ์อภิปรายว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะเป็นโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าโครงการเรือธงทั้ง 5 โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมกัน และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังก็ได้นำโครงการนี้ไปขายนักลงทุนทั่วโลก ทั้งจีน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์
“ผมเข้าใจถึงเจตนาดีของนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่อยากเห็นการพัฒนาประเทศและภาคใต้ ซึ่งพรรคก้าวไกลก็อยากเห็นประเทศพัฒนาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราต้องถกเถียงกันด้วยข้อมูลและเหตุผลอย่างมีวุฒิภาวะและเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่กล่าวหาอีกฝ่ายว่าไม่อยากเห็นการพัฒนา ไม่รักชาติ เข้าข้างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการถกเถียงแบบไม่สร้างสรรค์” นายสุรเชษฐ์ระบุ
@แนะควรศึกษาให้จริงจัง เป็นกลาง
นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ คือคำสองกลุ่ม ได้แก่ “อยากได้หรือไม่อยากได้” ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนบุคคล กับ “ควรทำหรือไม่ควรทำ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองเมื่อพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
ดังนั้น การจะตอบคำถามว่าโครงการแลนด์บริดจ์ควรทำหรือไม่ควรทำ นี่คือสาเหตุที่รัฐจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ออกแบบ หาทางแก้ปัญหาทั้งในแง่ของวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญก็คือ ที่ปรึกษาต้องมีจรรยาบรรณ ศึกษาอย่างจริงจังและเป็นกลาง ไม่ใช่ปั้นตัวเลขเพื่อตอบโจทย์ตามธงของหน่วยงานเจ้าของโครงการ
@รบ.ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคุ้มกว่า ‘ช่องแคบมะละกา’
นายสุรเชษฐ์ย้ำว่า แก่นกลางของเรื่องแลนด์บริดจ์คือ “เวลา” และ “ค่าใช้จ่าย” ของสายการเดินเรือ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่จะมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์แทนช่องแคบมะละกา รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแลนด์บริดจ์จะทำให้ลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริง ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะมีสายการเดินเรือหันมาใช้บริการ
ซึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะใช้ในการศึกษาโจทย์ลักษณะนี้ ย่อมหนีไม่พ้นแบบจำลองโลจิต (Logit Model) หรือการประมาณการเปรียบเทียบระหว่างกรณี “มี” หรือ “ไม่มี” โครงการ โดยหากไม่มีการคำนวณแบบนี้ก็ถือว่าการศึกษานี้ไม่ตอบโจทย์ แต่ตนก็เชื่อว่าหน่วยงานศึกษาก็คงจะต้องมีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบนี้ จึงขอให้รัฐมนตรียืนยันว่ามีการใช้ Logit Model แบบนี้จริง ๆ หรือหากมีวิธีอื่นใด ก็ควรเปิดเผยข้อมูลเพื่อมาถกเถียงกันด้วยเหตุผล
@สะท้อนตัวเลข สนข. ประหลาด
เพราะหากจะพิจารณาว่าคุ้มค่าจริงหรือไม่ ต้องดูว่าอะไรอยู่ในแบบจำลองทางเลือก (Discrete Choices) ที่สมมติมาในแต่ละคู่ O-D (ต้นทาง-ปลายทาง) ปีฐาน และปีอนาคต ซึ่งควรจะมีการเปิดเผยทั้งหมด แต่สิ่งที่อยู่ในรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตอนนี้มีแต่ตัวเลขที่น่าประหลาดใจ เช่น มีการคำนวณคู่ O-D จากตะวันออกกลาง ไปเอเชียใต้, จากแอฟริกา ไปเอเชียใต้, จากยุโรป ไปเอเชียใต้ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเส้นเดินเรือเหล่านี้จะมีโอกาสมาใช้ท่าเรือฝั่งระนองจริงหรือไม่ และจะมามากน้อยแค่ไหน หรือคู่ O-D จากออสเตรเลียไปตะวันออกไกล ก็มีคำถามว่า นักลงทุนจากต่างประเทศจะแวะมาใช้ท่าเรือชุมพรทำไม
“ดังนั้น รัฐมนตรีต้องสั่งการให้เปิดเผยข้อมูลที่ใช้ในการประมาณการ เพราะยอดสุดท้ายที่ปรากฏดูสูงเกินเป็นไปได้ ส่วนตัวเลขที่ร่ำลือกันว่าประหยัดเวลาได้ 2-3 วันก็เป็นไปไม่ได้อย่างชัดเจน แม้ระยะทางจะสั้นลงแต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ลัดมากแบบคลองปานามาหรือคลองสุเอซ อีกทั้งยังต้องเสียเวลายกสินค้าขึ้นเพื่อเดินทางบนบก เสี่ยงต่อความเสียหายหรือสูญหาย แล้วยังต้องไปยกลงอีกรอบที่ท่าเรืออีกฝั่ง” สส.ก้าวไกลกล่าว
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า แม้แต่สมาคมเดินเรือก็บอกว่าระยะเวลาจะใช้นานขึ้นและแพงขึ้นแน่นอน เพราะทำให้เรือต้องเทียบท่าและใช้เวลาในการขนถ่ายประมาณ 7-10 วันในแต่ละฝั่ง เพื่อยกตู้ขึ้นฝั่งและยกตู้สินค้าในแต่ละเที่ยวกลับ ซึ่งจะทำให้สายการเดินเรือต้องเพิ่มเรือในเส้นทางอีกอย่างน้อย 1.5 ลำขึ้นไป เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก
นายสุรเชษฐ์อภิปรายต่อไปว่า การศึกษาที่ดีต้องคิดในแง่ปฏิบัติการด้วย ตู้ไหนของบริษัทใด ตู้ไหนหนัก ตู้ไหนเบา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดเรียงสินค้า 2 หมื่นตู้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะมีระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาช่วย แต่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการใช้ช่องแคบมะละกา และก็ยังมีช่องแคบซุนดาและช่องแคบลมบกที่เป็นทางเลือกอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสายการเดินเรือจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ ที่จะทำให้สายการเดินเรือส่วนหนึ่งหันมาใช้แลนด์บริดจ์ในปริมาณที่มากพอ
@แนะปรับแบบตามผลการศึกษา ‘สภาพัฒน์’ - จี้ตอบถึงความคุ้มค่า
นายสุรเชษฐ์ยังกล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ชี้ชัดว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุนทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน และยังมีข้อเสนอว่าควรปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) โดยลดขนาดโครงการลงเหลือเพียงบทบาทสนับสนุนการผลิตและการค้าของไทย ภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดขนาดโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนไปได้อย่างมาก ลดความเสี่ยงจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อชุมชนและการเวนคืน แต่ตอนนี้ รัฐบาลกลับทำในทิศทางตรงกันข้าม คือจะเพิ่มขนาดโครงการ แถมรูปแบบธุรกิจก็ไม่ชัดเจน แต่ไปเร่ขายทั่วโลก
ดังนั้น นายสุรเชษฐ์ตั้งคำถามแรกต่อรัฐมนตรีว่า แลนด์บริดจ์จะร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้เท่าใด ขอให้รัฐมนตรีชี้แจงมาให้ชัด ๆ เอาสักหนึ่งเส้นทางหลัก คือจากตะวันออกไกล (ประเทศจีนฝั่งตะวันออก) ไปยุโรป เพราะโครงการนี้คาดว่าผู้มาใช้หลักคือการถ่ายลำข้ามฝั่งมหาสมุทร (Transshipment) รัฐมนตรีต้องตอบว่ากรณีไม่มีโครงการจะใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเท่าใด และกรณีที่มีโครงการ เมื่อเทียบกันระหว่างการไปทางช่องแคบมะละกากับการผ่านแลนด์บริดจ์ จะใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายต่างกันเท่าใด
@รัฐบาลรับฟังทุกความเห็น
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงแทน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า จากการโรดโชว์ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุริยะ ที่ต่างประเทศ พบว่า มีนักลงทุนให้ความสนใจและเข้าร่วมหารือ ซึ่งนักลงทุนสนับสนุนเพราะต้องการช่องทางขนส่งทางเรือที่สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวก
ล่าสุด นายเศรษฐา ที่เดินทางไปยังกรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ได้พูดคุยกับนักลงทุนใน กลุ่มสหภาพยุโรป ได้รับความสนใจและเสียงต่อรับ จากนักธุรกิจในเชิงบวก ได้ขยายความคิด และโครงการให้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยต้องการโอกาส ทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้ประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน
นางมนพร กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลมีคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ทุกโครงการต้องฟังความเห็น ออกกฎหมาย ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ได้เชิญคนที่เห็นด้วยและเห็นต่างให้ความเห็น รวมถึงศึกษาทุกมิติ อาทิ ความมั่นคง อุตสาหกรรม ต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม และให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแลนด์บริดจ์ มีผลกกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความท้าทายที่ต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหา ผลกระทบในพื้นที่รวมถึงคำนึงถึงการเวนคืนที่ดินในราคาที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่
นอกจากนั้น กรรมาธิการได้ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน พบว่าประชาชนส่วนหนึ่งคัดค้านเพราะไม่อยากสูญเสียที่ดินทำกินดั้งเดิม สิทธิในที่อยู่อาศัย และการประมงพื้นบ้าน ซึ่งรัฐบาลไม่ละเลยเสียงคัดค้านดังกล่าวและเตรียมออกกฎหมายพิเศษในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยนำความเห็นของประชาชนมาพิจารณา ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ
“ดิฉันจะผลักดันความฝันแลนด์บริดจ์ให้เป็นจริงและลงมือทำ ทั้งนี้โครงการช่องทางแลนด์บริดจ์เพื่อลดการเสียเวลาและระยะทางขนส่ง จากที่ช่องแคบมะละกามีความแออัด และมีปัญหาปล้นเรือสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขนส่งสินค้าจากประเทศจีนไป ออสเตรเลีย ทางเรือมีเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศจีนตอนใต้หลายพื้นที่ไม่ติดทะเล หากมีโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้มีเรือตู้สินค้ามาที่แลนด์บริดจ์เพิ่มมากขึ้น เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แม้ไม่ใช่ทุกเส้นทางการเดินเรือ” รมช.คมนาคม
@ยันที่ปรึกษาศึกษาครบทุกมิติความคุ้มค่า
นางมนพรกล่าวต่อว่า แต่จากการศึกษาพบว่า เส้นทางที่ขนส่งเส้นทางเรือฟีดเดอร์ที่จะประหยัด แต่ระยะยาวหากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าจากท่าเรือระนอง จะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความคุ้มค่าของการทำโครงการขนาดใหญ่นั้น ยืนยันว่าบริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุนต้องเข้ามาศึกษาในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่าเขาไม่มาลงทุน แต่เมื่อศึกษาแล้วมีประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ต้องกลับมาทบทวน
“ยอมรับว่า ทุกโครงการมีผลกระทบ จึงใช้กลไกของสภาฯ ผ่านกรรมาธิการฯ ที่ประกอบด้วยทุกพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาศึกษา ประชุมกว่า 10 ครั้ง ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เมื่อศึกษาแล้วจะนำมาให้สภาฯ พิจารณา และส.ส.สามารถให้ความเห็นได้ เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หากพบว่า ของบสูงเกินไป สามารถอภิปรายปรับลดได้ ทั้งนี้ก่อนทำโครงการได้มีการศึกษารายละเอียดใน 10 ส่วน ไม่มีการหมกเม็ด ทั้งระบบโลจิสติกส์ การออกแบบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์รูปแบบการลงทุน การออกแบบท่าเรือ 84% สถานะประเมินผลเกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลของประชาชน ชาวประมง การขับเคลื่อนและการร่วมทุน ซึ่งกระบวนการแต่ละส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา และจะนำข้อห่วงใยของฝ่ายค้านไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้วย” นางมนพรกล่าว