ศาลอาญาสั่งปรับแกนนำพันธมิตรฯ 13 รายคนละ 20,000 บาท กรณีปิดสนามบินปี 2551 ผิดฐานบุกรุก-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนข้อหาอื่นยกฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวกรวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฎ-ก่อการร้ายฯ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ
โดยศาลพิพากษาปรับจำเลยที่ 1-5, 7-13 และจำเลยที่ 31 คนละ 20,000 บาท ผิดฐานบุกรุกและฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ส่วนข้อหาอื่นยกฟ้อง และจำเลยที่เหลือยกฟ้องทั้งหมด
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 จำเลย 7-13 และ จำเลยที่ 31 ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายพิภพ ธงไชย ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายสุริยะใส กตะศิลา ,นายศิริชัย ไม้งาม ,นายสำราญ รอดเพชร ,นางมาลีรัตน์ แก้วก่า ,นายสาวิทย์ แก้วหวาน ,นายสันธนะ ประยูรรัตน์ ,นายชนะ ผาสุกสกุล ,นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมรเทพ หรืออมร ศิริโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์ ,และ บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด กระทำความผิดฐานบุกรุกและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุดคือความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548
พิพากษาให้ลงโทษปรับ คนละ 20,000 บาท ส่วน ข้อหาอื่นพยานและหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน- 3 ธันวาคม 2551 จำเลยได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมใหญ่ กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้เสียหายที่ 2 และทำลายทรัพย์สินเสียหายเป็นเงิน 627,080 บาท แล้วนำจานรับสัญญาณของพวกจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้เสียหายที่ 3 และปิดกั้นสะพานกลับรถของกรมทางหลวง ผู้เสียหายที่ 4 ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่ของบริษัท การบินไทย ผู้เสียหายที่ 5 ปิดกั้นการบริการสื่อสารบริษัท ไปรษณีย์ไทย ผู้เสียหายที่ 6 และร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน รวมทั้งจำเลยกับพวก ได้ชุมนุมปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการด้วย เพื่อกดดันให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นลาออก
คดีนี้พวกจำเลยให้การปฏิเสธ โดยศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 แต่จำเลย 4 คน มีอาการป่วย และ นายประพันธ์ คูณมี ติดภาระกิจ เข้ารับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ศาลจึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษา
ในวันนี้จำเลยเดินทางมาศาลยกเว้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เเละนายเทิดภูมิ ใจดี อดีต สส.ศรีสะเกษ ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยจะมีการเชื่อมสัญญาณอ่านคำพิพากษาผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายประพันธุ์ คูณมี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า น้อมรับในคำพิพากษาของศาลและยืนยันว่าการชุมนุมในครั้งนั้นเป็นการชุมนุมโดยสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ และยังบอกว่า คดีนี้อัยการยื่นฟ้องหลายข้อหา เช่น ข้อหาบุกรุกฯ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อหาก่อการร้ายชุมนุมโดยก่อการวุ่นวาย ข้อหาทำร้ายเจ้าพนักงาน ต่อสู้ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น
ประเด็นที่ศาลวินิจฉัยคือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2551 โดยมีจุดมุ่งหมายคือการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้การกระทำผิดเรื่องคอรัปชั่นของนักการเมืองหายไป ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้นแม้จะเป็นพื้นที่สนามบินดอนเมืองแต่ เป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับการบินซึ่งเป็นพื้นที่เป็นที่ตั้งร้านค้าประชาชนสามารถเข้าใช้ได้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการขุมนุมไม่มีการทำร้ายผู้โดยสารรวมถึงพนักงานสายการบิน รวมถึงการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการพกอาวุธก่อจราจลวุ่นวาย ถึงแม้จะเกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนบ้างก็เป็นเรื่องปกติของการชุมนุม ศาลจึงมองว่าการชุมนุมโดยรวมทั้งหมด เป็นไปด้วยความสงบปราศจากอาวุธอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดในฐานก่อการร้ายรวมถึงข้อหาอื่นๆ ซึ่งข้อหาก่อการร้ายที่ยกฟ้องนั้นเนื่องจากการชุมนุมนั้นไม่มีการใช้อาวุธทำลาย ระบบคมนาคมขนส่งหรืออากาศยาน จึงถือว่าไม่เข้าข่ายความผิด
ในส่วนข้อหาบุกรุกซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีการใช้เป็นการประชุม ครม.เป็นการชั่วคราวของรัฐบาลขณะนั้น ซึ่งช่วงที่พันธมิตรเคลื่อนขบวนเข้าไป ได้มีเข้าไปในห้องประชุมที่ใช้ในการประชุมจริง ศาลจึงมองว่า เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จึงเข้าข่ายความผิดฐานบุกรุก เเละขณะนั้นเป็นช่วงประกาศสถานการฉุกเฉินฯจึงมีความผิดตาม พรก.ฉุกเฉินด้วย เเต่เป็นการกระทำกรรมเดียวกันผิดกฎหมายหลายบทศาลจึงลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็น้อมรับพอใจผลคำพิพากษา