สธ.เผยโควิด JN.1* มีแนวโน้มระบาดมากขึ้น ไทยพบติดเชื้อแล้ว 40 ราย พร้อมจับตาหลังต่างประเทศเจอชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่งติดกัน ทั่วโลกพบ 41 ราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในประเทศ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังติดตาม 10 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (Variants of Interest :VOI) 5 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5* , XBB.1.16* , EG.5*, BA.2.86* และ JN.1* และสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (Variants under monitoring :VUM) 5 สายพันธุ์ ได้แก่ DV.7*, XBB*, XBB.1.9.1*, XBB.1.9.2* และ XBB.2.3* ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 WHO จัดสายพันธุ์ JN.1* เป็น VOI ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.86* ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามที่ต่างจาก BA.2.86 คือ L455S กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 455 เปลี่ยนจากลิวซีนเป็นซีรีน เพิ่มความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ
"JN.1* ได้เปรียบในการเติบโตสูงกว่า XBB.1.9.2* ถึง 73% โดยช่วงต้นปี 2567 มีรายงานการกลายพันธุ์ของ JN.1* เพิ่มที่ตำแหน่ง F456L ฟีนิลอะลานีน ถูกแทนที่ด้วยลิวซีนที่ตำแหน่ง 456 รวมกลายพันธุ์สองตำแหน่ง L455S และ F456L เรียกว่า “Slip mutation” ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อ JN.1* ชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่งรายแรกในฝรั่งเศส ขณะนี้พบทั่วโลกจำนวน 41 ราย" นพ.ยงยศกล่าว
นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกของสายพันธุ์ในกลุ่ม VOI จากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 48 (27 ต.ค. - 3 ธ.ค. 2566) พบ EG.5* มากที่สุด ในสัดส่วน 36.3% ถัดมาคือ JN.1* พบสัดส่วน 27.1% โดย EG.5* มีอัตราการพบที่ค่อยๆ ลดลง ขณะที่ JN.1* ซึ่งได้เปรียบในการเติบโตและคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน มีอัตราการพบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 28 วัน ขณะที่กลุ่ม VUM พบ XBB.1.9.1* มากที่สุดสัดส่วน 3.3% และ DV.7* ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามแบบ Flip mutation คือ กลายพันธุ์สองตำแหน่งที่อยู่ติดกัน ได้แก่ L455F และ F456L ช่วยส่งเสริมการจับตัวบนผิวเซลล์มนุษย์ และหลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่มีสัดส่วนลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันยังไม่พบมีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16* เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด กระทั่ง ก.ย.เริ่มมีแนวโน้มลดลง และพบสายพันธุ์ XBB.1.9.2* มาแทนที่ ล่าสุดผลการถอดรหัสพันธุกรรมช่วง พ.ย. 2566 ถึง 15 ม.ค. 2567 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2* ลดลง ในขณะที่สัดส่วนของ JN.1* เพิ่มมากขึ้น โดย JN.1* เริ่มพบในไทยตั้งแต่ ต.ค. 2566 และพบมากขึ้นใน ธ.ค. 2566 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะระบาดหลักแทนที่ XBB.1.9.2* จากข้อมูลปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อ JN.1* ในพื้นที่เขตสุขภาพ 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, และ 13 มีอาการระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้ ไอ เสมหะ เป็นต้น ยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจาก JN.1* ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ JN.1* ในไทย 40 ราย ยังไม่มีชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่ง