ก.ต.ลงมติ 8 ต่อ 7 ไม่สั่งพักราชการ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ถูกสอบวินัยร้ายแรง พันคดีแทรกแซงเพิกถอนหมายจับ สว.อุปกิต เผย 'อโนชา ชีวิตโสภณ' ประธานฯ อยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุม คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา นอกจากการมีมติเห็นชอบพักราชการข้าราชการตุลาการจำนวน 1 ราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการถูกสอบสวนวินัยร้ายแรง จากกรณีแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) รายหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อ้างว่า มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 รายร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง ครั้งแรกเรียกร้องเงินสูงถึง 175 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเรียกร้องลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท
ที่ประชุม ก.ต.ยังมีการพิจารณาวาระสั่งพักราชการ ข้าราชการตุลาการอีก 1 ราย ตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง กรณีแทรกแซงการเพิกถอนหมายจับ นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในคดีพัวพันกับการฟอกเงินขบวนการค้ายาเสพติดของ ‘ทุนมินลัต’ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตร (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) กองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ร้องเรียนต่อกรรมการ ก.ต.รายหนึ่งว่า ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอออกหมายจับนายอุปกิต ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงินในวันที่ 3 ต.ค. 2565 และศาลได้อนุมัติตามคำขอแล้ว แต่ต่อมาในวันเดียวกัน ได้มีการเพิกถอนหมายจับ “โดยอ้างว่า เป็นบุคคลสำคัญ จึงเชื่อได้ว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี” โดยหนังสือร้องเรียนกล่าวหารองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญารายหนึ่งแทรกแซงให้มีการเพิกถอนหมายจับ
โดยที่ประชุม ก.ต.มีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ไม่สั่งพักราชการข้าราชการตุลาการรายนี้
สำหรับ ก.ต.เสียงข้างมาก 8 เสียง ที่สั่งไม่พักราชการรองอธิบดีศาลอาญา ได้แก่ 1. นางอโนชา ชีวิตโสภณ 2. นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล 3. นางมัณทรี อุชชิน 4. นายเศกสิทธิ์ สุขใจ 5. นายณรัช อิ่มสุขศรี 6. นายชยกมล เกษมสันต์ ณ อยุธยา 7. นายสุพจน์ หนูเกลี้ยง และ 8. ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล
ส่วน ก.ต. เสียงข้างน้อย 7 เสียง ได้แก่ 1. นายธนิต รัตนผล 2. นายปุณณะ จงนิมิตรสถาพร 3. นายสมชาย อุดมศรีสำราญ 4. นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ 5. นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ 6. นายดนัยศักดิ์ นาควิเชียร และ 7. นายณรงค์ ใจหาญ
สำหรับขั้นตอนต่อไปภายหลังจากที่ คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงสรุปผลการสอบสวนเป็นทางการแล้ว จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ต.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งผลการพิจารณาข้าราชการตุลาการรายนี้ อาจจะมีความผิดหรือไม่มีความผิดก็ได้ แต่ถ้ามีความผิดบทลงโทษจะมี 2 ส่วน คือ ปลดออก กับไล่ออกราชการ เช่นเดียวกับ กรณีการข้าราชการตุลาการที่ถูกแกนนำ กปปส. ร้องเรียนขอความเป็นธรรม อ้างว่า มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 รายร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
ก.ต.ตั้งสอบวินัยร้ายแรง ‘รองอธิบดีศาลอาญา’คดีแทรกแซงเพิกถอนหมายจับ สว.อุปกิต