สื่อนอกตีข่าวพบโรคติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวไทย ในถ้ำที่เกษตรกรไปเก็บมุลค้าวคาวทำปุ๋ย ขณะนักวิทย์ฯอังกฤษ ย้ำเป็นหลักฐานยืนยันโควิด-19 มีต้นตอจากธรรมชาติ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับประเทศไทยว่าสำนักข่าว Indo-Asian News Service หรือ IANS ของประเทศอินเดียได้รายงานว่าผลการค้นพบไวรัสในค้างคาวชนิดล่าสุดในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการติดเชื้อข้ามไปสู่มนุษย์ได้ ได้ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการแพร่เชื้อจากสัตว์ไปสู่คนเกิดขึ้นในประเทศไทย
โดยกลุ่มที่ค้นพบเชื้อดังกล่าวนั้นได้แก่องค์กรป้องกันโรคระบาด EcoHealth Alliance จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งองค์กรนี้มีหัวหน้าคือ นพ.ปีเตอร์ ดาซัค ที่กล่าวว่าค้นพบไวรัสที่ไม่เคยค้นพบมาก่อนจากถ้ำในประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรท้องถิ่นมักจะมาเก็บมูลค้างคาวเพื่อไปทำเป็นปุ๋ย
ทั้งนี้ในช่วงการจัดอีเวนท์ขององค์การอนามัยโลก นพ.ดาซัคกล่าวว่า “เราพบกับโคโรน่าไวรัสที่เกี่ยวกับโรคซาร์สเป็นจำนวนมาก แต่ว่าหนึ่งในนั้นเราพบได้บ่อยในค้างคาวที่ผู้คนสัมผัสกันได้ทั่วไป”
นพ.ดาซัคกล่าวเสริมว่า “เราถือว่านี่เป็นเชื้อโรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากสัตว์ ที่นี่เรามีไวรัสในค้างคาว ในถ้ำที่มีคนสัมผัสกับมูลของค้างคาว และไวรัสตัวนี้ถูกหลั่งออกมาในมูลของค้างคาว ดังนั้นมันจึ้งมีศักยภาพที่แท้จริงทำให้เกิดการเกิดโรคขึ้น”
อนึ่ง นพ.ดาซัคเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่ปฏิเสธทฤษฎีเรื่องไวรัสโควิดมาจากการรั่วไหลโดยห้องแล็บอย่างต่อเนื่องและยืนยันว่าโคโรน่าไวรัสมีต้นกำเนิดจากธรรมชาติ
แม้จะมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับต้นกําเนิดของไวรัส แต่การค้นพบไวรัสค้างคาวตัวใหม่เน้นย้ำถึงความสําคัญอย่างต่อเนื่องของการทําความเข้าใจและติดตามแหล่งที่มาของโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การค้นพบไวรัสในค้างคาวชนิดใหม่นี้เกิดขึ้นท่ามกลางจํานวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยจํานวนผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 42% ใน 50 ประเทศ
การเพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากโควิดสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน JN.1 ซึ่งพบครั้งแรกในฝรั่งเศสในเดือน ก.ย. โดยโควิดสายพันธุ์ย่อยนี้มีสัดส่วนประมาณ 60 %ของการติดเชื้อใหม่ในช่วงต้นเดือน ม.ค.ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC)
ขณะที่ WHO ออกมากำหนดว่าโควิดสายพันธุ์ย่อย JN.1ที่เป็นส่วนหนึ่งของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.86 นี้ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ เนื่องจากว่ามีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงด้านสาธารณสุขค่อนข้างต่ำ