กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #Conforall เตรียมบุกทำเนียบรัฐบาลวันที่ 15 ม.ค.นี้ ขอพบ ‘เศรษฐา’ ทบทวนการตั้งคำถามทำประชามติกำกวม ขีดเส้นแก้ทุกมาตราเว้นหมวด 1-2 ชี้เป็นการนำเจตจำนงที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาปนกับประเด็นเชิงเนื้อหาภายในรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 มกราคม 2567 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #Conforall แถลงเตรียมยื่นหนังสือขอเข้าพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 มกราคม 2567 นี้ เพื่อหารือทางออกแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เสนอยังมีปัญหาเรื่องความไม่รัดกุมและอาจเป็นชนวนที่ทำให้การทำประชามติซึ่งเป็นประตูด่านแรกในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ผ่าน
นายนันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร ตัวแทนจากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ยื่นเสนอคำถามประชามติไปยังคณะรัฐมนตรีให้จัดออกเสียงประชามติภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 211,904 คน แต่ ครม. ยังไม่ให้ความเห็นชอบกับคำถามดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการประชามติฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ได้มีข้อสรุปว่าจะทำประชามติทั้งหมดสามครั้ง โดยการทำประชามติครั้งแรก จะถามเพียงคำถามเดียวแต่มีสองประเด็น คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า เป็นการถามคำถามที่มีประเด็นซ้อนกัน ประชาชนไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนได้
ขณะที่นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวต่อว่า คำถามประชามติของคณะกรรมการประชามติฯ มีลักษณะของการนำเจตจำนงที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาปนกับประเด็นเชิงเนื้อหาภายในรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ใช่เรื่องที่ควรจะพูดคุยกันในขั้นต้นเพราะอาจจะทำให้ผู้ที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือผู้ที่อยากแก้ไขประเด็นใดในหมวด 1 หรือหมวด 2 ออกไปลงคะแนนไม่เห็นชอบจนนำไปสู่การทำประชามติไม่ผ่าน และทำให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองตามมา
“คำถาม #Conforall จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเน้นย้ำหลักการเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างหลักประกันว่าเสียงของประชาชนจะมีผลต่อกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างแท้จริง” ตัวแทน iLaw กล่าว
ด้านนางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนจากคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้การตัดสินใจเกี่ยวกับการทำประชามติจะอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ทางกลุ่มจึงมีข้อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ดังนี้
หนึ่ง ขอให้ทบทวนการตั้งคำถามประชามติที่คณะกรรมการประชามติฯ แนะนำ เนื่องจากคำถามนี้มีปัญหาในหลายประเด็นที่อาจจะทำให้การทำประชามติไม่ผ่าน
สอง ขอให้รับรองคำถามประชามติ #Conforall ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน พิจารณาควบคู่ไปกับคำถามของคณะกรรมการประชามติฯ
“หวังว่ารัฐบาลจะไม่ตีตกความทุ่มเทของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชัดเจน เป็นประชาธิปไตย ตามที่รัฐบาลเคยได้หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่ทำให้คำถามประชามติกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งที่อาจจะทำให้ประชามติครั้งนี้ไม่ผ่านและเลื่อนระยะเวลาการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกไป” นางสาวภัสราวลี กล่าว