ตร.เผยสถิติการอายัดเงินโอนไปมิจฉาชีพออนไลน์สูงขึ้น หลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้เมื่อ 17 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา พบจาก 53 ล้านบาท อายัดได้เป็น 1,789 ล้านบาท แต่เตือนประชาชนไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ดีที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 มกราคม 2567 พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
การออกกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากการถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกฎหมายได้ให้อำนาจธนาคารในการอายัดเงินชั่วคราวเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทันทีที่มีผู้เสียหายแจ้งว่าถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อนที่ผู้เสียหายจะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและพนักงานสอบสวนจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่ออายัดเงินจำนวนดังกล่าวต่อไป ซึ่งปัจจุบันผู้เสียหายสามารถ แจ้งเหตุเบื้องต้นเพื่อให้ดำเนินการอายัดบัญชีชั่วคราวได้ที่สายด่วน 1441 นั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า สถิติการอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กับกลุ่มมิจฉาชีพสูงขึ้นจากเดิมกว่า 6 เท่า โดยก่อนหน้าที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 16 มีนาคม 2566) สถิติการขออายัดเงินรวม 1,346 ล้านบาท อายัดเงินได้ทันเพียง 53 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 3.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด
ส่วนสถิติหลังจากที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม - 31 ธันวาคม 2566) มีสถิติการขออายัดเงินรวม 7,496 ล้านบาท อายัดเงินได้ทัน 1,789 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 23.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด ซึ่งสูงกว่าเดิมถึง 6 เท่า
อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเรียนว่า แม้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กลุ่มมิจฉาชีพได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีเงินอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถอายัดได้ทัน จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังไม่หลงเชื่อสิ่งที่เห็น หรือได้ยินบนโลกออนไลน์ ตามหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th/illustrations/