‘ราชทัณฑ์’ ออกเอกสารแจง ‘อธิบดี’ อนุญาตให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ รักษาตัวนอกเรือนจำได้ หลังครบ 120 วันตามกฎหมายต้องขออธิบดีอนุมัติและรายงานรมว.ต้นสังกัด ระบุเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ ขัดกฎหมาย ‘ทวี’ ยังไม่ได้รับรายงาน ‘เศรษฐา’ ไม่ห้าม คปท.ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ แต่ห่วงความไม่สงบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 มกราคม 2567 กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารรายงานสถานการณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รักษาตัวภายนอกเรือนจำเกิน 120 วันความว่า
ตามที่กรมราชทัณฑ์ ได้ส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร ออกรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 66 โดยพบว่า นายทักษิณ มีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าโดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นั้น
@ทักษิณ ป่วยหลายโรค ต้องรักษาโดยหมอเฉพาะทาง
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ขณะนี้ นายทักษิณ ชินวัตร ได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ที่ระบุไว้ว่า “กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการ ดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป”
@อธิบดีเห็นชอบตามกฎหมาย - รายงาน รมว.แล้ว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 67 ให้นายทักษิณ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที
โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวง จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากล รวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย
@เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ‘ทักษิณ’ ไม่ได้
กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ. 2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ที่มา: Facebook ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์
@ยังไม่ได้รับรายงาน ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกคุกเกิน 120 วัน
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการรักษาตัวของ นายทักษิณ จากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่ทราบจากสื่อว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเสนอมายังตนเองภายในสัปดาห์นี้ ส่วนการประชุมหลักเกณฑ์คัดกรองผู้ต้องขังที่เข้าข่ายตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง ยืนยันเป็นการหารือการออกระเบียบไม่ได้เจาะจงกับบุคคลใด
“ส่วน กรรมาธิการการตำรวจ จะไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ ในวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) เป็นเรื่องของอธิบดีกรมราชทันฑ์จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่ แต่ที่ รพ.ตำรวจ อนุญาตให้กรรมาธิการการตำรวจ เข้าศึกษาดูงาน ที่ชั้น 6 อาคารศรียานนท์นั้น ผมเองยังไม่ได้รับรายงาน” รมว.ยุติธรรมระบุ
@คปท.ชุมนุมได้ แต่ไม่อยากให้เกิดความไม่สงบ
ต่อมาเมื่อเวลา 15.40 น. ที่ จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่าเชื่อว่าทางกรมราชทัณฑ์ได้รับการเสนอเรื่องมาจากโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งสิทธิของผู้ป่วยต้องมีด้วย ตนมั่นใจว่ากรมราชทัณฑ์พิจารณาดูดีแล้วและทางกระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอน
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่เนื่องจากจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่คัดค้านในเรื่องดังกล่าวนัดชุมนุมปักหลักในวันที่นายกรัฐมนตรีนอนค้างที่ทำเนียบรัฐบาล จะขอผู้ชุมนุมหรือไม่ว่า อย่าเอาการเมืองมาโยงให้เกิดความไม่สงบในช่วงที่กำลังฟื้นตัวเศรษฐกิจ นายเศรษฐา กล่าวว่า คิดว่าพวกท่าน (สื่อมวลชน) รู้ ว่าเราทำหน้าที่อะไรในตอนนี้ และก็เป็นไปตามกระบวนการ ทางกรมราชทัณฑ์ก็ทำเรื่องแล้วโรงพยาบาลตำรวจก็ตอบแล้ว ขณะที่ทางคณะกรรมาธิการตำรวจ ก็จะเข้าไปตรวจสอบ ถือว่ามีกระบวนการตามกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่อยากให้เกิดความไม่สงบ ซึ่งก็แล้วแต่ เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคน ย้ำว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ ขอใช้คำว่าไม่อยากให้เกิดบรรยากาศทำนองนี้เกิดขึ้นจะดีกว่า เพราะเราเองก็พยายามจะทำให้มันดีขึ้น ผู้สื่อข่าวก็เห็นว่า รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ทุกรายละเอียด ขณะที่ปลีกย่อย ก็พยายามทำอย่างเต็มที่ และต้องเข้าใจว่ามีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำต่อ แล้วก็พยายามทำต่อ ก็ไม่ได้หยุดยั้ง หลังจากลงพื้นที่วันนี้ก็ต้องไปประชุมเพื่อสรุปว่า ต้องทำอะไรกันต่อ ซึ่งในที่ประชุมที่สื่อมวลชนเข้าไปด้วยก็เห็นว่า ไม่ใช่ว่าหลายเรื่องนั้นราบรื่น บางเรื่องงบประมาณยังขาดดุลต้องใช้งบสนับสนุนจากภาครัฐ
เมื่อถามว่า ต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมสถานการณ์หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนมั่นใจฝ่ายความมั่นคงจะดูแลอย่างดีไม่เป็นไร
ส่วนกังวลหรือไม่ที่จะทำให้การทำงานไม่ราบรื่น นายเศรษฐา กล่าวว่า กังวลทุกเรื่อง ทั้ง PM 2.5 การท่องเที่ยว และม็อบกังวลเหมือนกันทุกเรื่องเพราะแบกความคาดหวังของประชาชน 70 ล้านกว่าคน เรามีหน้าที่ที่ต้องทำก็ต้องทำกันไป หน้าที่ของตน ก็พยายามทำให้ดีที่สุด และหน่วยงานต่างๆของก็พยายามทำดีที่สุด ซึ่งต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ตรงไหนให้คำแนะนำได้ ตรงไหนที่ต้องพูดก็ต้องพูด
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี