ครูห่วงการศึกษาพัง หลัง ผอ.อ้างคำสั่ง ศธ. ห้ามให้นักเรียนติด 0 ด้านโฆษกกระทรวงฯ ยันยังให้ได้ เปิดทางให้ครูจัดการสอน-วัดผลด้วยเครื่องมือหลากหลาย หวังลดเด็กไม่ผ่านเกณฑ์ ส่วน สพฐ.ย้ำต้องใช้เวลาเรียน-คะแนนประเมิน ตัดเกรดตามมาตรฐาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สืบเนื่องจาก เพจเฟซบุ๊ก อะไรอะไรก็ครู เผยแพร่ข้อความจาก คุณครูท่านหนึ่ง ที่มาระบายความในใจ เกี่ยวกับการให้เกรดนักเรียนว่า
“ผอ.อ้างคำสั่งจาก กระทรวงให้นักเรียน ไม่ติด 0 ร. มส. ในเทอมนี้ ขอแค่ให้มาเรียน ให้เกรด 1 ทุกคน ตามหลักการสามารถทำได้ไหมครับ?”
“นักเรียนส่วนใหญ่ทำกิจกรรม แต่มีบางส่วนที่ไม่ยอมเข้าเรียน ไม่ส่งงานเลย ครูประจำวิชาติดตามตัวยากมาก ขนาดครูประจำชั้นยังตามไม่ได้เลย ทาง ผอ. ก็จะให้เกรด 1 ขอแค่มีตัวตน หากนักเรียนมาแต่วันสอบ ไม่ส่งงานเลย
ยังต้องให้เกรด 1 อันนี้เป็นนโยบายของส่วนกลางเลยไหมครับ เพราะตอนนี้นักเรียนเริ่มพูดกันละว่า ไม่ต้องทำอะไรก็ได้เกรด 1 ละ แค่มาให้เห็นหน้าก็พอ”
“กลัวว่าจะทำให้คุณภาพการเรียนกับวินัยของนักเรียนจะลดลง”
หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และเป็นที่ถกเถียงกัน
นอกจากนี้ เพจ อะไรอะไรก็ครู ยังได้เผยแพร่หนังสือที่คุณครูคนดังกล่าวได้อ้างถึงว่ามีคำสั่งจากส่วนกลาง และระบุข้อความด้วยว่า ถ้าพิจารณาตามนี้ ศธ. ไม่ได้กำหนดแนวทางว่า "แค่มาเรียนก็ได้เกรด 1" แต่มีการกำหนดแนวปฏิบัติในระดับโรงเรียนบางแห่งเท่านั้น
ประเด็นที่น่าสนใจคือ
-
การติดตามผล ที่เร่งรัดให้ดำเนินการรายงานในเวลาอันสั้น จะสามารถทำตามแนวทางที่ให้ไว้ได้จริงหรือไม่
-
ถ้าหากรายงานตามสภาพจริง จะมีผลอะไรเกิดกับผู้บริหารบ้าง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์แสดงความคิดเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีคำสั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 นักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ขอแค่มีตัวตน หากมาวันสอบแต่ไม่ส่งงานเลย ก็ต้องตัดเกรด 1 ให้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเข้าใจผิดให้แก่สังคม
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมาจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่าง สพฐ.ส่วนกลาง ถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในการกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริม ดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส.) ให้มีผลการเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. และให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ
ซึ่งเจตนาคือเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ ศธ. ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียน ผู้สอน โดยซักซ้อมแนวทางการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย รายงานความก้าวหน้า จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงให้แก่ผู้เรียน วางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบทแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจพิจารณาจากผลงาน ชิ้นงาน แฟ้มสะสมงาน การสอบปากเปล่า ผ่านซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่น ได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้การตัดสินผลการเรียนจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เวลาเรียน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และ 2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม จะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป
ส่วนกรณีที่ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ต้องจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างทันท่วงที ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดบทบาทการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ทั้งด้านของสถานศึกษา ครู และผู้เรียน
“ในอดีต อาจมีการติด 0 ร มส. ค้างเทอม ค้างปี ทำให้เด็กเสียโอกาส เป็นภาระผู้ปกครอง สถานศึกษาจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด ให้เด็กได้แก้ไขจนผ่านเกณฑ์ก่อนจบปีการศึกษา ดังนั้น การกล่าวว่า ศธ. สั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 ร มส. จึงไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดยผมขอยืนยันว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐาน มีเกณฑ์ ในการประเมินผู้เรียนอยู่แล้ว และสามารถให้เกรดผู้เรียนได้ตามปกติ เพียงแต่ ศธ. ต้องการกระตุ้นให้สถานศึกษาและครู ติดตามเด็กอย่างใกล้ชิด สามารถใช้เครื่องมือ วิธีการสอน สื่อการสอน การเก็บคะแนนที่มีความหลากหลายและทันสมัย เพื่อลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. ซึ่งหากสถานศึกษาทุกแห่งสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ไม่มีผู้เรียนที่สอบตก หรือติด ร มส. ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น สร้างบุคลากรที่มีเข้ามาพัฒนาประเทศได้ต่อไป” นายสิริพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการมอบนโยบายหรือออกเป็นคำสั่ง นายสิริพงศ์ กล่าวว่าเป็นการซักซ้อมความเข้าใจ ซึ่งในหนังสือเขียนไว้ชัดเจน เพื่อให้เตรียมการก่อนที่จะมีการปิดภาคเรียน ควรแก้ให้เสร็จ
ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์ กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งอ้างว่ามีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ให้นักเรียนติด ๐ และนักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ขอแค่มีตัวตน หากมาวันสอบแต่ไม่ส่งงานเลย ก็ต้องตัดเกรด 1 นั้น
นางเกศทิพย์ กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริง คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม โดยมีเจตนากระตุ้นให้สถานศึกษากำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริมและดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด ๐ ร มส) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพื่อให้การเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด ๐ ร มส
ส่วนข้อที่ว่า นักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ก็ต้องตัดเกรด 1 นั้น ข้อเท็จจริง คือ การที่นักเรียนจะได้รับการตัดสินผลการเรียน ต้องมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เวลาเรียน ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียน เป็นการมุ่งหวังให้ผู้สอนมีเวลาในการพัฒนาผู้เรียน และเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ 2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น เป็นการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ ทักษะการคิด ที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ซึ่งการกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนกับคะแนนปลายปี/ปลายภาค ให้ความสำคัญของคะแนนระหว่างเรียนมากกว่าคะแนนปลายปี/ปลายภาค เช่น 60 : 40, 70 : 30, 80 : 20 เป็นต้น
“สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา) ไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นดังกล่าว และมีความห่วงใยว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนได้ จึงกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่ง เร่งทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบจากประเด็นดังกล่าวได้ และขอให้สาธารณชนมั่นใจว่า สพฐ. จะกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง” นางเกศทิพย์ กล่าว