นายกฯคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตร ปชช.ใบเดียว นำร่องพร้อมกัน 4 จังหวัด ร้อยเอ็ด-แพร่ เพชรบุรี-นราธิวาส ช่วยเข้าถึงบริการ ลดขั้นตอน-แออัด-เหลื่อมล้ำ สธ.เร่งเก็บข้อมูลขยายผลระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัด และทั่วประเทศใน 1 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดตัวนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ผู้บริหารในพื้นที่ บุคลากรสาธารณสุข ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น อสม. ชมรมผู้สูงอายุ และประชาชน จำนวน 10,101 คน เข้าร่วมพิธีเปิด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส
นายเศรษฐา กล่าวว่า การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกที่ทั้งรัฐและเอกชน เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นนโยบายเน้นหนักของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัด และยกระดับหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้จัดบริการสุขภาพ อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยาและใบสั่งแล็บออนไลน์ การแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล การนัดหมายออนไลน์ ส่งยาและเวชภัณฑ์ที่บ้านผ่าน Health Rider และการส่งยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอย และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน
“หวังว่านโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะช่วยให้คนไทยทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพได้ทุกที่ ให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีพลังในการดำเนินชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้งภาครัฐ เอกชน สภาวิชาชีพต่างๆ ประชาชน และ อสม. ทั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและอีก 3 จังหวัดนำร่อง ที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของประชาชนไทย” นายเศรษฐากล่าว
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค มาตั้งแต่ปี 2544 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยในการรับบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ถือเป็นนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญและมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ประชาชนคลายความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ สามารถลดครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพจาก 250,000 ครัวเรือนในปี 2531 เป็น 49,300 ครัวเรือน ในปี 2564
โดยการขับเคลื่อนต่อจากนี้ คือ การยกระดับเป็น 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้คนไทยเข้ารับบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก แล็บและร้านยาใกล้บ้าน เชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนหน่วยบริการ จะพบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล เนื่องจากข้อมูลการรับบริการทางการแพทย์ของแต่ละหน่วยบริการไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลการรักษาของตนเองจากสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งทั้งไม่สะดวกและเป็นภาระค่าใช้จ่ายแฝง ขณะที่แพทย์ผู้รักษามักจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการรักษา ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา การได้รับวัคซีน ผลทางห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาในหน่วยบริการอื่นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน
รัฐบาลจึงยกระดับระบบ 30 บาท ให้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน โดยพัฒนาระบบบริการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้
“กระทรวงสาธารณสุข กำหนดขับเคลื่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส และร้อยเอ็ด จากนั้นระยะที่ 2 จะขยายอีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา และขยายทั่วประเทศภายใน 1 ปี โดยจัดงานเปิดตัวขึ้นที่ร้อยเอ็ด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่อง เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้ได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจตุรพักตร์พิมาน ร้านยา ร้านแล็บ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม และโรงพยาบาลร้อยเอ็ด พบว่ามีความพร้อมในการขับเคลื่อนเต็มร้อย” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิทัลมาประยุกต์ใช้ในงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน และลดภาระงานของบุคลากร จึงกำหนดให้เรื่องดิจิทัลสุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งจะมีถอดบทเรียนการดำเนินงานใน 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อนำไปขยายผลอีก 8 จังหวัดในระยะที่ 2 และขยายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป