เผยมติ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา 'นิพนธ์ โชติบาล' อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ - พวก จัดซื้อชุดลายพรางพร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่ทั่วปท. ปี 2559 วิธีพิเศษ 8,000 ชุด วงเงิน 49.8 ล้าน จากอผศ. ทำให้ได้รับความเสียหาย หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิด ถือตามเสียงข้างมาก พ้นข้อกล่าวหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2566 ตีตกข้อกล่าวหา นายนิพนธ์ โชติบาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวก ดำเนินโครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยาน แห่งชาติ ทั่วประเทศ ประจำปี 2559 โดยวิธีกรณีพิเศษ จำนวน 4 รายการ รวม 8,000 ชุด ในวงเงิน 49,800,000 บาท จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) โดยใช้เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ เป็นกรณีเร่งด่วน ตามใบสั่งซื้อเลขที่ 0910/28/2559 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ซึ่งทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับความเสียหาย
หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ถือตามความเห็นของ กรรมการ ป.ป.ช.ฝ่ายเสียงข้างมาก เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
โดยคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 7 ราย ประกอบไปด้วย 1. นายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2. นายสมหมาย กิตยากุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 3. นายวิทยา นวปราโมทย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ 4. นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ 5. นายธนศาสตร์ เวียงสารวิน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุทยานแห่งชาติ 6. นายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ 7. นางสาวสุดารัตน์ จันทร์อุดม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่พัสดุ
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุว่า พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทั่วประเทศ ประจำปี 2559 โดยวิธีกรณีพิเศษ จำนวน 4 รายการ รวม 8,000 ชุด ในวงเงิน 49,800,000 บาท ทั้งที่ เพิ่งจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และมีการส่งมอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ก่อนการอนุมัติให้ใช้เงินรายได้ครั้งนี้ ประมาณเพียง 4 เดือน และเครื่องแบบ ที่จะจัดซื้อยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นเครื่องแบบพิเศษ สำหรับข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์เร่งรีบอย่างผิดปกติ โดยนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุมัติการใช้เงินรายได้ดังกล่าว ในวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ นายนิพนธ์ โชติบาล ไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกรณีจำเป็นเร่งด่วนหากดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามที่ นายธนศาสตร์ เวียงสารวิน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุทยานแห่งชาติ และนายวิทยา นวปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวอ้าง และกรณีไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 12 วรรคสอง ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ที่จะอนุมัติให้ใช้เงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ดังกล่าวได้
ต่อมาการที่นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ ลงนามในบันทึกข้อความกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ทส 0910.104/4132 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ในฐานะรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และเมื่อนางสาวสุดารัตน์ จันทร์อุดม ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุเมื่อได้รับบันทึกข้อความดังกล่าว ได้เสนอ รายงานขอซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 โดยวิธีกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ผ่านนายประเสริฐ อุ่นแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ซึ่งได้ลงนามรายงานขอซื้อดังกล่าว เสนออธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาอนุมัติ ซึ่งต่อมานายสมหมาย กิตยากุล รองอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงนามอนุมัติในรายงานขอซื้อ และลงนามในใบสั่งซื้อ ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ดังกล่าว ตามที่เสนอ
ทั้งที่ ข้อเท็จจริงว่า ไม่มีกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ราชการได้ และการจัดซื้อดังกล่าว ไม่ปรากฏราคากลางของเป้สะพายหลังพร้อมหม้อข้าวสนามอาร์ม สำนักอุทยาน อาร์มกรมอุทยานฯ หัวเข็มขัดพร้อมสาย และหมวกแก็ปพร้อมอาร์มกระทรวงทรัพยากรฯ จึงเป็นการดำเนินการ ที่ไม่ชอบด้วยระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 27 และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง และการคำนวณราคากลาง ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เห็นชอบตามหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางและการคำนวณราคากลางตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และกระทรวงการคลังเสนอ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีดังนี้
@ ประเด็นที่ 1 การอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 โดยวิธีกรณีพิเศษ โดยใช้เงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ กรณีจำเป็นเร่งด่วน โดยมิชอบ
จากการไต่สวนได้ความว่า มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกข้อความส่วนนันทนาการ และสื่อความหมาย ด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.301/920 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 และบันทึกข้อความ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.301/4051 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เสนอขออนุมัติต่ออธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอ้างเหตุ กรณีจำเป็นเร่งด่วนตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ข้อ 12 นั้น โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นเนื่องจากในการออกลาดตระเวนเพื่อออกตรวจปราบปรามของเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ การสนธิกําลัง เพื่อปราบปรามหยุดยั้งการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่รับผิดชอบ การปฏิบัติงานยุทธการ ทวงคืนผืนป่า ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ให้สนธิกําลังปราบปรามการบุกรุกทําลายป่าอย่างเข้มข้น ร่วมกับทหาร ตํารวจ หน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น เครื่องแบบ อาวุธ อุปกรณ์ ในการปราบปรามสําหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงต้องมีการจัดหาให้พร้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอรับจัดสรรงบประมาณและจัดสรรเงินรายได้ เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดหาอุปกรณ์ ดังกล่าวอย่าง ต่อเนื่องอยู่ตลอดมา ประกอบกับกฎหมายบังคับให้เจ้าหน้าที่แสดงตนขณะเข้าจับกุม ไม่ว่าจะโดยเครื่องแบบ ที่แสดง ชื่อ ชั้นยศ ตําแหน่งสังกัด หรือโดยแสดงบัตรประจําตัวซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเครื่องแบบดังกล่าวได้มาโดยเจ้าหน้าที่จัดซื้อเอง ทั้งที่เ ป็นวัสดุที่ราชการสามารถจัดหาได้เช่นเดียวกับวิทยุสื่อสาร ปืน และในปี พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีนโยบายสนธิกําลังดําเนินยุทธการกวาดล้างพืชพันธุ์ที่เป็นพืชต่างถิ่นที่บุกรุก เช่น ไม้ยางพารา และยึดพื้นที่คืนจากผู้บุกรุก โดยกําหนดพื้นที่ปฏิบัติการเป้าหมาย (Area of operation:AO) AO1 - AO) ตามลําดับความสําคัญเร่งด่วนของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ได้ปฏิบัติการตามยุทธการดังกล่าว ทุกวันต่อเนื่องตลอด ซึ่งในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะต้องเบิกเครื่องแบบ ตลอดจนอุปกรณ์สนาม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทุกวัน ทําให้ชุดเสื่อมสภาพ เก่า ขาด อย่างรวดเร็ว
จึงมีการเสนอซื้อทดแทนเป็นกรณีเร่งด่วน ประกอบกับการจัดซื้อเครื่องแบบดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เคยดําเนินการจัดซื้อ โดยวิธีกรณีพิเศษจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์มาแล้ว รวม 3 ครั้ง
ดังนั้น การที่นายนิพนธ์ โชติบาล ในฐานะอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อได้พิจารณาหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ปรากฎ ตามบันทึกข้อความส่วนนันทนาการ และสื่อความหมาย ด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.301/920 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 และบันทึกข้อความ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.301/4051 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ข้างต้น ได้อนุมัติให้ใช้เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 เป็นเงินจํานวน 49,800,000 บาท โดยวิธีกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ตามที่นายวิทยา นวปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เสนอ จึงสามารถกระทำได้ ถือว่าเป็นเหตุ เข้าเงื่อนไขตามข้อ 12 วรรคสอง ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546
ต่อมามีการแจ้งที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติทราบแล้ว ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เมื่อวันพุธที่ 6 มกราคม 2559 แม้ในวันที่ 13 ตุลาคม 2558 คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติให้ นายนิพนธ์ โชติบาล ไปดํารงตําแหน่งรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้หมายความว่า นายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะพ้นไปจากตําแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในทันที เพราะยังมีขั้นตอนกระบวนการพิจารณาแต่งตั้งในภายหลังอีก โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคําสั่งที่ 348/2558 ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558 แต่งตั้งนายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายนิพนธ์ โชติบาล พ้นจากตําแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองปลัดกระทรวงสํานักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558
ดังนั้น สถานะของนายนิพนธ์ โชติบาล ในขณะลงนามอนุมัติยังคงมีอํานาจเต็มในตําแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นอกเหนือจากการอนุมัติอนุมัติให้ใช้เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 เป็นเงินจํานวน 49,800,000 บาท โดยวิธีกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 แล้ว นายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่อธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ได้ลงนามหนังสืออื่นๆ ที่มีการเสนอมาขั้นตอนอีกหลายฉบับ ไม่ได้มีพฤติการณ์เจาะจงจะอนุมัติเฉพาะการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 เท่านั้น
เครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 ที่มีการจัดซื้อในครั้งนี้ มีกฎหมายกำหนดให้เป็นเครื่องแบบพิเศษ สำหรับข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือไม่นั้น เห็นว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การสวมใส่เครื่องแบบหรือชุดปฏิบัติราชการ ของเจ้าหน้าที่ ได้ดําเนินการตามกฎสํานักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 88 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน พระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 ได้กําหนด เครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมป่าไม้ ภาค 4 เบ็ดเตล็ด ข้อ 17 ความว่า เครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมป่าไม้ แบบใดจะต้องแต่งในโอกาสใด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมป่าไม้กําหนด ซึ่งในข้อเท็จจริงอธิบดีกรมป่าไม้ได้ กําหนดให้ ชุดพิทักษ์ป่า ใช้ในภารกิจปฏิบัติงานสนาม ให้หน่วยงานและ/หรือสถานที่ปฏิบัติงาน ได้แก่ สํานักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่ต้นน้ำ เป็นต้น หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นภารกิจหน้าที่ของกรมป่าไม้ ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ กษ 0703.06/2496 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2542 เรื่องการกําหนดเครื่องแบบพิเศษสําหรับข้าราชการกรมป่าไม้
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกา โอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงอํานาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทาง ทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2546 โดยมาตรา 6 กําหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีอํานาจหน้าที่ในการ อนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริม และทํานุบํารุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การจัดให้ใช้ ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวน แห่งชาติ และการดําเนินการอื่นใด ทั้งนี้ ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอํานาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ มาตรา 6 วรรคสอง ได้กําหนดว่าในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลําธาร และเขตพื้นที่ป่าที่เตรียมการจัดให้เป็นเขตอุทยาน แห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้กรมป่าไม้มอบอํานาจหน้าที่ในการดําเนินการตาม กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมาย ว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ และกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดําเนินการได้ด้วย และมาตรา 7 กําหนดให้ ก.พ.ร. ตรวจสอบภารกิจ และอํานาจหน้าที่ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากเห็นว่า มีภารกิจหรืออํานาจ หน้าที่ของหน่วยงานใดมิได้เป็นไปตามมาตรา 3 วรรคสอง หรือมาตรา 6 ให้ดําเนินการแบ่งแยกและดําเนินการให้ถูกต้องตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดในมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 6 ส่วนมาตรา 7 วรรคสอง ได้กําหนดให้ในการโอนภารกิจหรืออํานาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้โอนหรือจัดแบ่งทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง ตําแหน่งและอัตรากําลังให้สอดคล้องกันด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากฎหมายได้กําหนดอํานาจหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทํานุบํารุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช การจัดให้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และการดําเนินการอื่นใด ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเจตนารมณ์ของกรมป่าไม้ในการกําหนด ชุดพิทักษ์ป่า เพื่อใช้ในภารกิจปฏิบัติงานสนาม ให้หน่วยงานและ/หรือสถานที่ปฏิบัติงาน ได้แก่ สํานักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ป่า อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันได้โอนมาเป็นภารกิจงานอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงทําให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า สามารถสวมใส่ชุดพิทักษ์ป่า ในการออกปฏิบัติหน้าที่ได้ ตามกฎหมายโดยอนุโลม แม้ยังไม่มีกฎหมายกําหนดให้เป็นเครื่องแบบพิเศษสําหรับข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ตาม
แต่ถือว่าเป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการเบิกจ่ายเงินจากเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ และเครื่องแต่งกาย ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเทียบได้ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0414/17861 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2547 แจ้งว่า หากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เห็นว่า วัสดุ เครื่องแต่งกายเป็นรายจ่ายที่จําเป็น ในการบริการนักท่องเที่ยว และงานออกตรวจปราบปรามผู้กระทําผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ อธิบดี หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย สามารถอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินจากเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0903.5/10137 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ขอทําความตกลงกับกรมบัญชีกลางเพื่อเบิกจ่ายเงินโครงการอุทยานแห่งชาติใสสะอาดปราศจากมลภาวะเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และจัดทําเสื้อสีเขียว เพื่อใช้ในกิจกรรมชมรม เสื้อสีเขียวพิทักษ์ความสะอาดโดยมอบเครื่องแต่งกายให้กับเจ้าหน้าที่แต่ละคนดูแลรับผิดชอบเป็นกรรมสิทธิ์ ในเครื่องแต่งกายนั้น ซึ่งกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0414/19715 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 แจ้งว่า ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ข้อ 14 กําหนดว่า การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ หรือบริการนักท่องเที่ยว ที่มิได้กําหนดไว้ในระเบียบนี้ให้เป็นอํานาจ ของอธิบดี หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย เป็นผู้อนุมัติตามนัยระเบียบข้างต้น
เมื่อโครงการจัดทําเสื้อสีเขียวดังกล่าว เป็นการจัดหาวัสดุเช่นเดียวกับโครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ จึงถือว่าเป็นการดําเนินการตามแนวทางที่กรมบัญชีกลาง ได้พิจารณาเสนอแนะ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอัยการสูงสุดในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่ง ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 7 /2559 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่ได้วินิจฉัยว่า การสั่งซื้อ ชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์เพื่อนํามาให้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศใช้ ในการปฏิบัติงาน อยู่ในกรอบของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 23 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ข้อ 3 ข้อ 13 (1) (2) ข้อ 14 และ ข้อ 16 แล้ว
นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายวิทยา นวปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายธนศาสตร์ เวียงสารวิน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุทยานแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ซึ่งเกี่ยวข้องในประเด็นนี้ ได้ชี้แจงไว้ทำนองเดียวกันกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ สอดคล้องตามทางไต่สวนข้างต้น เห็นว่า รับฟังได้ว่า การจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 เป็นเงินจํานวน 49.800,000 บาท โดยวิธีกรณีพิเศษ เข้าเงื่อนไขตามข้อ 12 วรรคสอง ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 และแม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นเครื่องแบบพิเศษ สำหรับข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยตรง แต่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการเบิกจ่ายเงินจากเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ และเครื่องแต่งกาย ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นไปตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0414/17861 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2547 หนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0414/19715 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 และระเบียบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ข้อ 14 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถจัดซื้อจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ได้
จากการไต่สวน ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ประเด็นที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนาเพื่อให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับความเสียหาย แต่อย่างใด
@ ประเด็นที่ 2 การเสนอรายงานขอจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 โดยวิธีกรณีพิเศษโดยมิชอบ
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รายงานขอซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏราคากลางของเป้สะพายหลังพร้อมหม้อข้าวสนามอาร์มสำนักอุทยาน อาร์มกรมอุทยานฯ หัวเข็มขัดพร้อมสาย และหมวกแก็ปพร้อมอาร์มกระทรวงทรัพยากรฯ มีเพียงราคาเสื้อ และกางเกงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลายพรางนกที่เคยซื้อครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส่วนนันทนาการและสื่อความหมาย สํานักอุทยานแห่งชาติ มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.301/939 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2558 เรื่อง ขอส่งสําเนาหนังสือ (ขออนุมัติใช้เงินรายได้เพื่อบํารุง อุทยานแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วน จัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) สําหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทั่วประเทศ ประจําปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเอกสารที่ส่งมาให้ฝ่ายพัสดุ ส่วนอํานวยการ ประกอบด้วย 1) หนังสือสํานักอุทยานแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.301/4051 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เรื่อง ขออนุมัติใช้เงินรายได้เพื่อบํารุงอุทยานแห่งชาติ เป็นกรณีเร่งด่วน จัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการ ตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง)ฯ 2) โครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง)ฯ พร้อมรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะที่ใช้จัดซื้อ 3) หนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด่วนที่สุด ที่ ทส 0910.301/21662 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ถึงผู้อํานวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขอให้ เสนอราคาผลิตภัณฑ์ชุดพิทักษ์ป่า (ลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ 8,000 ชุด 4) ใบเสนอราคาผลิตภัณฑ์ของเอกชน ๓ ราย ได้แก่ 4.1) บริษัท วีพีเอสรีครีเอชั่น จํากัด เสนอราคา จำนวน 49,800,000 บาท 4.2) บริษัท เอสดับเบิ้ล พีโซลูชั่น จํากัด จำนวน 53,286,000 บาท 4.3) ORASASINTAVEE CO.,LTD จำนวน 52,290,000 บาท โดยใบเสนอราคาผลิตภัณฑ์ของเอกชน 3 ราย ได้แก่ บริษัท วีพีเอสรีครีเอชั่น จํากัด บริษัท เอสดับเบิ้ล พีโซลูชั่น จํากัด และ ORASASINTAVEE CO.,LTD ซึ่งได้แนบมาด้วยนั้น มีรายละเอียดราคาของพัสดุแต่ละรายการ คือ เสื้อ และกางเกงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลายพรางนก เป้สะพายหลังพร้อมหม้อข้าวสนาม อาร์มสำนักอุทยาน อาร์มกรมอุทยานฯ หัวเข็มขัดพร้อมสาย และหมวกแก็ปพร้อมอาร์มกระทรวงทรัพยากรฯ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าว กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงบประมาณ ยังไม่มีการจัดทำและแจ้งเวียนให้หน่วยราชการใช้แต่อย่างใด ราคาผลิตภัณฑ์ของเอกชน 3 รายดังกล่าว ถือเป็นการสืบราคาจากท้องตลาด มีราคากลาง เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 27 แล้ว เพียงแต่ ไม่มีการลงรายละเอียด ไว้ในรายงานขอซื้อขอจ้าง ด้วยเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้รับผิดชอบ
ส่วนการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง และการคำนวณราคากลาง ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เห็นชอบตามหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางและการคำนวณราคากลางตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และกระทรวงการคลังเสนอ นั้น เมื่อนายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดี มาปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้สํานักอุทยานแห่งชาติทบทวนการใช้เงินรายได้ เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ โดยให้ยุติแผนงาน/โครงการที่ได้อนุมัติเร่งด่วนไม่ผ่านการพิจารณา ของคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ในขณะเดียวกันนายธัญญา เนติธรรมกุล ก็ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบและพิจารณาว่า โครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) สําหรับเจ้าหน้าที่อุทยาน แห่งชาติทั่วประเทศ ประจําปี พ.ศ. 2559 รวม 8,000 ชุด เป็นเงินจํานวน 49,800,000 บาท ได้ ดําเนินการเป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายเงินรายได้หรือไม่ และได้สั่งการให้สํานักอุทยานแห่งชาติ ดําเนินการยกเลิกโครงการจัดซื้อเครื่องแบบดังกล่าว ได้สั่งการให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าวฝ่ายเดียว โดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ ไม่ยินยอมด้วย โดยเห็นว่า ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อระเบียบและกฎหมาย
ต่อมานายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนได้ดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบกรณีการดําเนินโครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) สําหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทั่วประเทศ ประจําปี พ.ศ. 2559 รวม 8,000 ชุด เป็นเงินจํานวน 49.800,000 บาท เมื่อพิจารณาตามหนังสือสํานักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0035/ว 0006 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจ แนวทางการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างราคากลาง และการคํานวณราคากลาง มีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานของรัฐที่มีการให้ความเห็นชอบรายงานขอซื้อขอจ้าง ซึ่งมีวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างเกินกว่า 1 แสนบาท เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง และการคํานวณราคากลางตามแบบตารางแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์สําหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจําปี พ.ศ. 2559 รวม 8,000 ชุด เป็นเงินจํานวน 49,800,000 บาท อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องดําเนินการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการ จัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง และการคํานวณราคากลางตามแบบตารางที่สํานักงาน ป.ป.ช. กําหนด กล่าวคือ ต้องประกาศรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างราคากลาง ภายใน 3 วัน นับแต่วันอนุมัติ เว้นแต่ ในกรณีมีเหตุจําเป็นอื่นที่ไม่สามารถดําเนินการได้ ให้ประกาศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง
ข้อเท็จจริงกรณีนี้ เมื่อนายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุมัติโครงการ จัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) เป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ตามที่สํานักอุทยานแห่งชาติเสนอ และนายสมหมาย กิตยากุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะรองหัวหน้าส่วนราชการ และปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงนามเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 อนุมัติให้ซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อม อุปกรณ์ 4 รายการ รวม 8,000 ชุดเป็นเงินจํานวน 49,800,000 บาท พร้อมกับลงนามอนุมัติในรายงานขอ ซื้อหรือขอจ้าง ลงนามในใบสั่งซื้อถึงองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และลงนามหนังสือเพื่อส่งสัญญาจ้างให้ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับกรมสรรพากรพิจารณา ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 135 ซึ่งจะต้องดําเนินการประกาศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการจัดซื้อ จัดจ้างคือนับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558
แต่ขณะนั้น นายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ยังไม่ได้ดําเนินการประกาศราคากลาง ตามที่ สํานักงาน ป.ป.ช. กําหนด โดยชี้แจงว่า มีสาเหตุเนื่องมาจากขณะนั้นนายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้สํานักอุทยานแห่งชาติทบทวนการใช้เงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และโครงการจัดซื้อเครื่องแบบดังกล่าว นอกจากนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการตรวจสอบ และพิจารณาอยู่ตลอดเวลาว่า การใช้จ่ายเงินรายได้เป็นไปตามระเบียบกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 หรือไม่ ต่อมานายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าวฝ่ายเดียว โดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ ไม่ยินยอมด้วย ตามข้อเท็จจริงที่ดังกล่าว จึงถือเป็นพฤติการณ์พิเศษ ที่ทําให้การดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดปัญหาอุปสรรคชะงักงัน ไม่สามารถเดินต่อไปได้ พราะยังไม่แน่นอนว่า จะมีการดําเนินโครงการต่อไปอีกได้ หรือไม่
แต่หลังจากนั้นเมื่อเห็นว่า การเลิกสัญญา ยังไม่มีผลบังคับใช้ นายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้ทําการประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 การที่นายสมหมาย กิตยากุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และนางสาวสุดารัตน์ จันทร์อุดม ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นต่อสู้ว่า การไม่ได้ดําเนินการประกาศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการจัดซื้อจัดจ้างคือ วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เนื่องจากมีเหตุเกิดจากผู้มีอํานาจสั่งการให้ระงับยกเลิกโครงการข้างต้น ประกอบข้อเท็จจริงที่ไต่สวนได้ความ จึงรับฟังได้ ยังถือไม่ได้ว่า เป็นการกระทําโดยมีเจตนาฝ่าฝืน การเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง และการคำนวณราคากลาง ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เห็นชอบตามหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางและการคำนวณราคากลางตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และกระทรวงการคลังเสนอ
จากการไต่สวน ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนาเพื่อให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 129/2566 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นแล้ว ลงคะแนนเสียงแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 โดยวิธีกรณีพิเศษ โดยใช้เงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ กรณีจำเป็นเร่งด่วน โดยมิชอบ
จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายวิทยา นวปราโมทย์ ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายธนศาสตร์ เวียงสารวิน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
ประเด็นที่ 2 การเสนอรายงานขอจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 โดยวิธีกรณีพิเศษโดยมิชอบ
จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายสมหมาย กิตยากุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และนางสาวสุดารัตน์ จันทร์อุดม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายเสียงข้างน้อยจำนวน 1 เสียง เห็นว่าการกระทำของนายสมหมาย กิตยากุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายวิทยา นวปราโมทย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายธนศาสตร์ เวียงสารวิน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และนางสาวสุดารัตน์ จันทร์อุดม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธฑรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธฑรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.25ุ61 มาตรา 172 ) และมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) โดยให้แจ้งผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
สำหรับกรณี นายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 จากการไต่สวนเบื้องต้น ยังรับฟังไม่ได้ว่า นายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้กระทำความผิด ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สรุปว่าต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช.ฝ่ายเสียงข้างมากและฝ่ายเสียงข้างน้อยประกอบกันเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียงที่เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่าจากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายนิพนธ์ โชติบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายประเสริฐ อุ่นแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ประการต่อไปสรุปว่า ต้องถือตามความเห็นของ กรรมการ ป.ป.ช.ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ที่เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายสมหมาย กิตยากุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายวิทยา นวปราโมทย์ ถูกกล่าวหาที่ 3 นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายธนศาสตร์ เวียงสารวิน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และนางสาวสุดารัตน์ จันทร์อุดม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป