‘ก.ยุติธรรม’ ดันร่างกฎกระทรวงฯ ขัง ‘ผู้ต้องหา-จำเลยระหว่างสอบสวน’ นอกคุก ลดเงื่อนไขบางประการที่เคร่งครัดมากจนเกินไป เพื่อให้ปฏิบัติได้ หลังเกิดภาวะนักโทษล้นเรือนจำ
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ระบบกฎหมายกลาง law.go.th ได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีไว้ในสถานที่อื่น พ.ศ. ... ซึ่งเปิดรับฟังความเห็นฯตั้งแต่ 19 ธ.ค.2566 ถึง 3 ม.ค.2567 โดยผลการรับฟังความคิดเห็นฯ ปรากฏว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นรวม 31 คน และส่วนใหญ่หรือ 87.1-100% เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนแล้ว กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้จัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จะนำความคิดเห็นต่างๆที่รับได้รับฟังไปปรับปรุงร่างกฎกระทรวงฯอีกครั้ง ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สำหรับร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีไว้ในสถานที่อื่น พ.ศ. ....มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ข้อ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.คำนิยาม กำหนดนิยาม “การขัง” หมายความว่า การขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี “ผู้ถูกขัง” หมายความว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี ซึ่งศาลมีคำสั่งขังตามมาตรา 89/1
“ผู้ควบคุม” หมายความว่า ผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ควบคุมดูแล และรับผิดชอบผู้ถูกขัง โดยอาจเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือบุคคลอื่นที่ศาลเห็นสมควรกำหนดให้เป็นผู้ควบคุม
2.ลักษณะสถานที่อื่นที่ใช้ในการขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี อาจเป็นบ้านพักอาศัยของบุคคล สถานที่ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐ สถานที่ที่ดำเนินการโดยเอกชน หรือสถานที่อื่นใดที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ วิธีปฏิบัติต่อผู้ต้องหา หรือจำเลย ซึ่งต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีอาคารสถานที่ที่มั่นคงแข็งแรง และมีอาณาเขตที่แน่นอน
(2) มีการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถสื่อสารหรือตรวจสอบการเข้าออกของบุคคลได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย การควบคุม ตลอดจนการป้องกันการหลบหนี หรือการก่อให้เกิดความเสียหาย
3.คำสั่งของศาลให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีไว้ในบ้านพักอาศัยของบุคคล ผู้ร้องขออาจเสนอความเห็นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งใช้วิธีการหรือมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) ให้ผู้ถูกขังอยู่ภายในที่พักอาศัยตลอดเวลา เว้นแต่การออกไปรักษาพยาบาล หรือการบำบัดรักษาตามที่ศาลสั่ง (2) ให้ผู้ถูกขังอยู่ภายในที่พักอาศัยตลอดเวลา เว้นแต่การออกไปประกอบอาชีพ หรือการศึกษาเล่าเรียน หรือ (3) ให้ผู้ถูกขังอยู่ภายในที่พักอาศัยเฉพาะเวลาที่ศาลกำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางร่วมกับมาตรการอื่นก็ได้
4.การจัดอบรมบุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุม ให้กรมราชทัณฑ์จัดให้มีการอบรมบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุม เพื่อให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางและมีสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยมาตรฐานการอบรมให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์กำหนด
5.อำนาจหน้าที่ของผู้ควบคุม ให้ผู้ควบคุมตรวจสอบความถูกต้องของตัวผู้ถูกขัง ดูแลช่วยเหลือผู้ถูกขัง และจะใช้กำลังบังคับแก่ผู้ถูกขังไม่ได้ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว หรือผู้ถูกขังพยายามหลบหนี นอกจากนี้ ผู้ควบคุมมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นต่อศาล
6.สิ่งของต้องห้ามมิให้ผู้ถูกขังนำเข้าไปในสถานที่อื่น ได้แก่ (1) ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ และสารระเหย รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเสพ (2) สุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น (3) อาวุธหรือสิ่งที่อาจใช้เป็นอาวุธหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออัคคีภัย (4) วัสดุ อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจนำไปใช้ในการก่อเหตุร้าย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจําเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีไว้ในสถานที่อื่น พ.ศ. ....ได้ระบุถึงเหตุผลในการตราร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า โดยที่การอํานวยความยุติธรรมตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสภาพของเรือนจำยังมีภาวะนักโทษล้นเรือนจำ
อีกทั้งกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จําคุกหรือควบคุมผู้ต้องหา จําเลย หรือผู้ซึ่งต้องจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ.2552 ซึ่งออกตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ยังมีข้อจํากัดในการบังคับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้การควบคุมผู้ต้องหาหรือจําเลยที่อยู่ระหว่างการสอบสวน หรือพิจารณาภายในสถานที่อื่นเป็นไปตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ขณะเดียวกัน ในเว็บไซต์ระบบกฎหมายกลาง ได้ระบุถึงความเป็นมา สภาพปัญหาและเป้าหมาย ในการตราร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจําเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีไว้ในสถานที่อื่น พ.ศ. .... ว่า จากกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ.2552 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เกิดปัญหาในการบังคับใช้หลายประการ
เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการอย่างใดๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่สั่งให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีตามนัยมาตรา 89/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเกิดจากการไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมที่จะสามารถกำหนดตามกฎกระทรวงดังกล่าวได้
เพราะในกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นฯ อาจมีเงื่อนไขบางประการที่เคร่งครัดมากจนเกินไป เช่น สถานที่อื่นต้องมีความมั่นคงปลอดภัย การจัดให้มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเรือนจำขนาดย่อม ทำให้การหาสถานที่ในลักษณะนี้เป็นไปได้ยาก
การขาดแคลนงบประมาณในการสนับสนุนการจัดหาสถานที่ เนื่องจากสถานที่ที่ต้องรับผิดชอบดูแลผู้ต้องขังแทนเรือนจำ ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ตาม หากเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐรับไปดูแลต่อไป ก็ยังคงต้องใช้งบประมาณของภาครัฐเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงหน่วยงานเท่านั้น ส่วนหากเป็นกรณีหน่วยงานของเอกชน แม้รัฐจะไม่ได้เป็นผู้บริหารจัดการเองโดยตรง แต่รัฐจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนงบประมาณให้แก่เอกชนในการบริหารจัดการ
และปัญหาในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เนื่องจากการดูแลผู้ต้องขังไม่เหมือนการดูแลบุคคลทั่วไป บุคลากรจะต้องมีองค์ความรู้และมีทักษะในการป้องกันปราบปรามและระงับเหตุต่างๆ ได้เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านั้นจะต้องเกิดจากการอบรมให้ความรู้ควบคู่ไปกับประสบการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม
จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถดำเนินการให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสภาพของเรือนจำยังมีภาวะนักโทษล้นเรือนจำ อีกทั้งกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุกหรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ.2552 ซึ่งออกตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในการบังคับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ กรมราชทัณฑ์ ได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 โดยระเบียบฉบับนี้ ได้กำหนดเกี่ยวกับ สถานที่คุมขัง นอกเหนือจากสถานที่ราชการ การกำหนดคุณสมบัติผู้ต้องขัง ที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังนอกเรือนจำ และการกำหนดหลักเกณฑ์ในพิจารณาให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังนอกเรือนจำ เป็นต้น