คณะทำงานเสนออัยการสูงสุดลงโทษวินัยร้ายแรงอัยการระดับสูง คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่ากว่า 6,200 ไร่ จ.เลย
สืบเนื่องกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน อสส.ที่ 2840 /2566 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด
ล่าสุดแหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกยึดครองหรือทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯกว่า 6,200 ไร่ ใน อ.ภูเรือ จ.เลยว่า คณะทำงานตรวจสอบซึ่งมี นายศักดา ช่วงรังษี อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้เสนอความเห็นต่อนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดว่า การสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ไม่ได้พิจารณาหลักฐานอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงกับราชการและทรัพยากรธรรมชาติ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในข้อเสนอของคณะทำงาน ได้เสนอให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงกับอัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้อง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ อัยการที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องโดยตรง มีจำนวน 4 คน ตั้งแต่ระดับอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จนถึงระดับอธิบดีอัยการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด
กลุ่มที่สอง คือ อัยการที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบการสั่งคดี แต่ไม่ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีจำนวน 2 คน เป็นระดับรองอธิบดีอัยการและอธิบดีอัยการ ปัจจุบันเป็นอัยการอาวุโส
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนั้นคณะทำงานยังเสนอให้นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รื้อฟื้นคดีขึ้นมาสั่งฟ้องผู้ต้องหา เนื่องจากในการตรวจสอบของคณะทำงานได้ตรวจพบพยานหลักฐานใหม่ เกี่ยวกับการกว้านซื้อที่ดินจากราษฎร ซึ่งพบว่าผู้ที่กว้านซื้อนั้นเคยเป็นลูกจ้างของบริษัท ซี.พี.เคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ขณะเดียวกันหลังจากที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทำให้กลุ่มผู้ต้องหายังไม่ได้ออกจากพื้นที่ที่ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่กรมที่ดินและศาลปกครองเคยมีคำพิพากษาให้เพิกถอน นส.3 ดังกล่าวแล้ว ได้สร้างความเสียหายให้กับต้นน้ำและระบบนิเวศน์รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอย่างร้ายแรง
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากคณะทำงานเสนอให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการอัยการเร่งสอบสวนทางวินัยอัยการที่เกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้องอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีอัยการระดับสูงบางรายลาออกจากราชการไปแล้ว ถ้าหากสอบสวนชักช้าไม่ทันตามที่กฎหมายกำหนด โดยตั้งกรรมการสอบสวนไม่ทันภายใน 180 วัน หรือสอบสวนไม่เสร็จภายใน 360 วัน ก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยกับอัยการเหล่านั้นได้
อย่างไรก็ตามทางคณะทำงานเห็นว่า การกระทำของอัยการเหล่านั้นอาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดทางอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ได้รับรายงานการตรวจสอบของคณะทำงานชุดนี้แล้ว ได้ส่งรายงานการตรวจสอบให้สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาและได้มีการทำความเห็นเสนอต่อนายอำนาจเรียบร้อยแล้ว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- ทวงคืนที่ดิน บ.เครือเปรมชัย!ดีเอสไอ-กรมป่าไม้ ลุยยึด น.ส.3 ก.จ.เลย 147แปลง 6,229 ไร่
- ทำความรู้จัก บ.ซี.พี.เค.ฯ ไร่องุ่น โรงบ่มไวน์ 6 พันไร่กลุ่มเปรมชัย จ.เลย 700 ล.
- DSI ส่งสำนวนคดี บ.ซี.พี.เค.ฯเครือเปรมชัย-พวก รุกป่า 6,948 ไร่ จ.เลย ให้อัยการ
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- ขยะ (ยังคงซุกอยู่) ใต้พรมในสำนักงานอัยการสูงสุด?