'ชัยธวัช ตุลาธน' ชี้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่-ไม่มีนโยบายเร่งด่วน ลดค่าไฟ-ดิจิทัลวอลเลต-งบทำประชามติ จวกรัฐบาลทำระบบนิติรัฐแย่ลง คุกมีไว้เพื่อขังประชาชนชั้นสามัญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร ประชุมพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระแรก วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงหลักการตั้งร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กล่าวเปิดการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณ
นายชัยธวัช กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าก็มาอ่านนโยบายเช่นนี้ แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม คือ เป็นการแถลงงบประมาณที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อดูเนื้อในพบว่าเลื่อนลอย ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีลำดับความสำคัญ เมื่อ 11 ก.ย. 2566 นายกเศรษฐาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าประเทศไทยมีวิกฤต 3 วิกฤตสำคัญ ได้แก่ 1. วิกฤตรัฐธรรมนุญ 2. วิกฤตเศรษฐกิจ 3. วิกฤตความขัดแย้งในสังคม เพื่อแก้ปัญหาและวางรากฐานให้คนไทยทุกคน
หลังจากที่ดูแผนงานของแต่ละกระทรวง พบว่า มีปัญหามากมาย ทั้งเป็นแผนงานที่ไม่มีตัวชี้วัดชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จจากนโยบายได้จริง หรือเป็นแผนงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบาย เมื่อดูเนื้อในของแผนงานเหล่านั้นก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นแผนงานเดิมของแต่ละกระทรวงที่ทำอยู่แล้ว เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ บ้างก็นำโครงการประจำของกระทรวงมาเข้ามาเป็นแนวนโยบาย บอกว่าเป็นแผนงานใหม่ที่รัฐบาลใหม่จะทำ สับสนจนแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะทำ หรือเป็นสิ่งที่แต่ละหน่วยงานทำทุกปี
"ผมไม่ได้โทษหน่วยงานราชการ เพราะรัฐบาลสั่งเขาก็เขียนมาให้ แต่สุดท้ายการบริหารบ้านเมืองให้บรรลุตามนโยบายของรัฐบาล เป็นภาระหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่ของราชการ รับบาลต้องเป็นผู้นำข้าราชการเป็นผู้ตามตอบสนองนโยบาย" นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กลางเดือน ก.ย. 2566 ครม.มีมติสั่งทบทวนร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ใหม่ เห็นชอบให้มีการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรวมถึงทบทวนแนวทางในการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ใหม่ รัฐบาลมีเวลา 3 เดือนในการปรับปรุงพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ที่คาดหวังนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเป้าหมายของรัฐบาล แต่สุดท้าย 3 เดือนผ่านไป พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนับสำคัญ อย่างน้อยพ.ร.บ.ฉบับนี้ควรจะยึดโยงกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น
"ทางหนึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะมีนโยบายเร่งแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็มี แต่เมื่อดูเนื้อในของร่างพ.ร.บ.จะพบว่าเป็นการจัดสรรที่ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาแต่อย่างใด เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลบอกว่าจะเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ก็เป็นเช่นกัน รวมถึงเรื่องลดค่าไฟซึ่งพ.ร.บ.งบประมาณไม่สะท้อนเรื่องดังกล่าวเลย นโยบายเร่งด่วนบอกว่าจะให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในปีนี้ก็ต้องมีการจัดทำประชามติอย่างน้อย 1-2 ครั้ง แต่ก็ไม่เห็นการตั้งงบประมาณสำหรับทำเรื่องดังกล่าว โดยกกต.ของบประมาณไป 2,000 ล้านบาท แต่ได้เพียง 1,000 ล้านบาทโดยประมาณ ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเลตที่ตอนแถลงนโยบาย นายกและรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กู้เงิน แต่วันนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเรื่องดังกล่าวไว้ในพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 แต่อย่างใด"
"ถ้าดูในภาพรวมของพ.ร.บ.ฉับับนี้วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท จะพบว่าเป็นงบประมาณเบี้ยหัวแตก ทำงานไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิม ๆ เอามาเปลี่ยนชื่อเปลี่บนปกใหม่ และยังนับรวมทุกรายจ่ายแล้วมาเคลมใหม่ว่าเป็นงบการลทุนของรัฐบาลใหม่ ในโครงการที่ตั้งงบประมาณรายจ่าย 2,000 โครงการ เห็นโครงการใหม่ประมาณ 200 โครงการเท่านั้น ซึ่งโครงการใหม่ 200 นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลใหม่ เกิดขึ้นเพราะมีหน่วยรับงบประมาณใหม่ที่ตั้งก่อนหน้านี้" นายชัยธวัช กล่าว
อีกทั้งการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้คาดการณ์รายได้เกินจริงไปประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่ต้องคาดการณ์เกินจริงเพื่อทำแผนรายจ่ายได้สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ต้องจ่ายอย่างแน่นอนไว้ไม่พอ เช่น บำเน็จ บำนาญ เงินเดือนราชการ งบสวัสดิการ เป็นต้น รัฐบาลชุดที่แล้วก็ทำเช่นนี้ ตั้งงบไว้ไม่พอทั้งที่รู้ว่าต้องจ่าย สุดท้ายก็ต้องไปตั้งรายจ่ายชดเชยเงินคงคลังทีหลัง ด้วยสภาพเช่นนี้เราจึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณชุดนี้
"แต่อย่างไรก็ตามบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณก็ได้ เช่น นโยบานเร่งด่วนที่รัฐบาลเคยแถลงต่อสภาไว้ว่า จะสร้างความชอบธรรมในการบริหารแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม วันนี้เราไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมจริง ๆ หรือกำลังจะทำให้สถานการณ์ระบบนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศย่ำแย่ลงไปอีก เพราะสังคมกำลังถูกตอกย้ำให้อยู่กับกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน ถูกตอกย้ำว่าพวกเราต้องอยู่ในระบบกฎหมายหรือเรือนจำที่มีไว้สำหรับประชาชนสามัญที่ไม่ได้มีอำนาจบารมี เงินทองเท่านั้น" นายชัยธวัช กล่าว
นอกจากนี้ปัญหาของพ.ร.บ.งบประมาณยังสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นด้วย คือ ที่เรามองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลรวมกันเฉพาะกิจ เพื่อแบ่งปันอำนาจ แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ชั่วคราว จึงเห็นการตั้งครม.แบบผิดฝาผิดตัว ไม่ได้แบ่งงานตามวาระ แต่แบ่งตามโควตาทางการเมือง พรรคแกนนำรัฐบาลที่ควรจะมีเป้าหมายผลักดันนโยบายเรือธงไว้ ไม่ได้มีการวางบุคลากรไปบริหารหน่วยงานอย่างบูรณาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเรือธง หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริง ๆ เห็นว่าคงเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เป็นการรวมตัวกันเพื่อพยายามฝืนทวนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย รวมตัวเพื่อปกป้องพลังทางสังคมใหม่ ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้
"ในฐานะฝ่ายค้านไม่อยากเห็นพ.ร.บ.งบประมาณที่ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ในครั้งต่อไป แม้จะเป็นฝ่าค้านพวกเราก็พร้อมสนับสนุนฝ่ายบริหาร รัฐบาล ในการปฏิรูปรับบราชการ ปฏิรูประบบงบประมาณครั้งใหญ่ เพราะมีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตของพวกเรา ขอให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายรัฐบาล เปิดใจรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อเสนอแนะ และความเห้นของพวกเรา หวังว่าสุดท้ายการพิจารณางบประมาณของสภาแห่งนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชน แม้เราจะผิดหวังกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ก็ตาม" นายชัยธวัช กล่าว