‘คมนาคม’ ล้อมคอก ‘รับเหมา’ หลังเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างโครงการถี่ ‘สุริยะ’ จี้ตั้งคณะทำงาน ด้านอธิบดีทางหลวงระบุ ‘กรมบัญชีกลาง’ กำลังร่างหลักเกณฑ์ประเมินผลผู้รับจ้างใหม่ โทษสูงสุดลดชั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 ธันวาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีอุบัติเหตุในพื้นที่โครงการก่อสร้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทางกระทรวงให้หน่วยงานเพิ่มมาตรการกำกับดูแลการก่อสร้างที่เข้มข้นมากขึ้น พร้อมทั้งเร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ พร้อมทั้งสำรวจและติดตามด้านความปลอดภัย ก่อนที่จะนำมาพิจารณาและกำหนดแนวทางที่เข้มงวดในอนาคตต่อไป รวมถึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการธุรกิจด้านรับเหมาก่อสร้าง ให้ตระหนักถึงมาตรการเชิงป้องกันและนำระบบการตรวจการณ์ความปลอดภัย Safety Audit มาใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้อุบัติเหตุเกิดซ้ำขึ้นอีก
“ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุ จะให้ผู้รับจ้างหยุดก่อสร้าง 7 วันเพื่อทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัยซึ่งถือเป็นการลงโทษผู้รับจ้าง เพราะทำให้เวลาในการทำงานหายไป แต่ก็เห็นว่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงาน เช่น กรมทางหลวงพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม เช่นกรณี บริษัท A เกิดเหตุซ้ำซากหลายครั้ง อาจจะพิจารณาเรื่องขึ้นบัญชีดำ (Black List) หรือปรับลดชั้นผู้รับเหมา ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มแนวทางการกำกับคุณภาพการทำงานของผู้รับเหมา“นายสุริยะกล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมคณะ ลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู บริเวณถนนติวานนท์ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 66
ที่มาภาพ: กระทรวงคมนาคม
@รอกรมบัญชีกลาง ประกาศหลักเกณฑ์ประเมินผลรับเหมา
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะมีคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ซึ่งมีกรมบัญชีกลางจะเป็นหน่วยงานหลัก โดยจะมีอำนาจในการจดทะเบียน บริษัทผู้รับเหมา พร้อมกับให้อำนาจในการประเมินผลงานด้วย ซึ่งในคณะกรรมการจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น สำนักงบประมาณ อัยการสูงสุด สมาคมผู้รับเหมา นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการร่วมด้วย โดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ร่วมในกรรมการชุดนี้ด้วย
ในขั้นตอนการจดทะเบียนผู้รับเหมาจะกำหนดเงื่อนไขการประเมินผลไว้ด้วย โดยคณะกรรมการชุดนี้อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์การประเมินผลผู้รับจ้าง หากพบว่าผู้รับเหมารายนั้น มีการทำงานบกพร่องต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะมีมาตรการลงโทษ เช่น หยุดการก่อสร้าง ชะลอหรือห้ามรับงานเพิ่มหรือ ปรับลดชั้น ไปจนขึ้นบัญชีดำ เป็นต้น ซึ่งเป็นบทลงโทษนอกเหนือจากข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้างของแต่ละโครงการ
“ปัจจุบันมีการรับจดทะเบียนผู้รับเหมา แต่ยังไม่มีมาตรการประเมินผลการทำงาน กรณีทำงานล่าช้ามากๆ กรณีเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ เช่น ทำคานหล่นร่วง 2 ครั้ง ตอนนี้ ที่ทำได้ก็คือ หน่วยงานเจ้าของโครงการ สั่งหยุดงาน 7 วัน เพื่อทบทวนมาตราการความปลอดภัยใหม่ แต่หากกรมบัญชีกลางประกาศเงื่อนไขประเมินผลงานออกมาบังคับใช้ จะนำตรงนั้นมาใช้ได้ ซึ่งจะทำให้ได้ผู้รับเหมาพัฒนาศักยภาพการทำงานตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับลดชั้นหรือห้ามประมูลงานได้” อธิบดีกรมทางหลวงระบุ
@เข้มสแกนคุณสมบัติผู้รับเหมารอบละ 3 ปี พบบกพร่องปรับลดได้
นายสราวุธกล่าวว่า ในส่วนของกรมทางหลวง มีข้อคิดเห็นว่า บทลงโทษในการทำงานที่มีปัญหามากๆ เช่น กรณีทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย บทลงโทษ คือ 1. การลดชั้นผู้รับเหมา 2. ชะลอการได้โครงการใหม่ เพื่อให้ผู้รับเหมา ทำงานที่มีอยู่ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานก่อน ทั้งนี้การปรับลดชั้นจะมีผลต่อการเข้าร่วมประมูลโครงการของผู้รับเหมา
สำหรับผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง จะมีการจัดลำดับ โดยใช้เงื่อนไข 5 องค์ประกอบ คือ ทุนจดทะเบียน สินเชื่อทางการเงิน จำนวนเครื่องจักร บุคลากร ผลงาน เป็นต้น โดยในส่วนของการก่อสร้างงานทาง จะแบ่งผู้รับเหมาเป็น 7 ชั้น ได้แก่ ผู้รับเหมาชั้นพิเศษ มีจำนวน 77 ราย สามารถเข้าประมูลงานได้ไม่จำกัดวงเงิน แต่กำหนดให้ ทำงานพร้อมกันได้ไม่เกิน 6 โครงการ รองลงมาคือ ผู้รับเหมาชั้น 1, ผู้รับเหมาชั้น 2 ,ผู้รับเหมาชั้น 3, ผู้รับเหมาชั้น 4 ,ผู้รับเหมาชั้น 5 ,ผู้รับเหมาชั้น 6 ตามลำดับ โดยผู้รับเหมาที่สามารถรับงานก่อสร้างของกรมทางหลวงได้ มีจำนวน 5 ชั้น คือตั้งแต่ชั้นพิเศษ จนถึงผู้รับเหมาชั้น 4
ทั้งนี้ จะมีการตรวจทบทวนคุณสมบัติกันทุก 3 ปี หากไม่ครบตามที่กำหนด ผู้รับเหมาจึงจะถูกปรับลดชั้น แต่ยังไม่มีเรื่องการประเมินผลการทำงาน ที่เป็นเรื่องสำคัญ ในขณะนี้ ซึ่งจะนำมาเป็นเงื่อนไขในการทบทวนคุณสมบัติผู้รับเหมา โดยหากคณะกรรมการฯและกรมบัญชีกลางได้ข้อสรุป จะมีการรับฟังความเห็น จากนั้น ออกประกาศปรับปรุงเงื่อนไขการจดทะเบียนต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีการทบทวนคุณสมบัติและผลงานคุณภาพการทำงานผู้รับเหมาเพื่อประเมินผล นำไปสู่การจัดชั้นผู้รับเหมาใหม่ต่อไป
@ส่องอุบัติเหตุก่อสร้างโปรเจ็กต์ปี 66 เกิดแล้ว 5 ครั้ง
สำหรับ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่โครงการก่อสร้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พบว่า ในรอบปี 2565 เกิดอุบัติเหตุขึ้นบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ เหตุคานสะพานกลับรถถล่ม เหตุมวลน้ำที่ขังในผ้าใบร่วงใส่รถ และเหตุท่อนเหล็กไถลไปถูกรถ ขณะที่ในปี 2566 ได้เกิดเหตุบนถนนพระราม 2 อีก 3 ครั้ง ได้แก่ เหตุคาน Segment หล่น เหตุโครงแผงผ้าใบถูกกระแทกไปโดนกระจกหน้ารถประจำทางสาธารณะ และเหตุการณ์ล่าสุดเหล็กแบบหล่นทับคนงานเสียชีวิตในโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญา 1
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เกิดเหตุ รถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายสีม่วงใต้) ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) บริเวณจุดก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่หลังจากเมื่อเวลา 08.00 น. ของวันนี้ ได้เกิดอุบัติเหตุจากการดำเนินงานยกเหล็กเส้นกำแพงกันดิน (D-Wall) ร่วงหล่นขณะปฏิบัติงาน โดยมีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 4 เป็นเหตุให้คนงานชายเสียชีวิต 1 ราย และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน ช่วงสถานีสามัคคี