สธ.ประกาศผลสำเร็จ Quick win 100 วัน ยกระดับ 30 บาท ได้ตามเป้า 10 ประเด็น เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ-คุณภาพชีวิต ทั้งฉีดวัคซีนเอชพีวีทะลุ 1 ล้านโดส-ใช้บัตรเดียวรักษาทุก รพ. นำร่อง 4 จังหวัด ด้าน 'ชลน่าน' ลั่นจ่อดันส่งเสริมมีบุตรเตรียมดันเข้าวาระแห่งชาติ พร้อมเตรียมแจกยาดม-ปล่อยขบวนรถกู้ชีพ ดูแล ปชช.เดินทางช่วงปีใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7/2566 ว่า การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้นโยบายยกระดับ 30 บาท ซึ่งกำหนด Quick Win 100 วัน (ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน - 26 ธันวาคม 2566) ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายทั้ง 10 ประเด็น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตประชาชน
โดยเฉพาะประเด็นที่ 4 มะเร็งครบวงจร ที่กำหนดฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย อายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส สามารถฉีดได้ครบตามเป้าหมายก่อนกำหนด โดยล่าสุดฉีดไปแล้วกว่า 1.4 ล้านโดส คิดเป็น 139.2% และประเด็นที่ 5 สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ที่กำหนดอบรมทีม Care D+ เป็นญาติเฉพาะกิจ เชื่อมประสานใจญาติ คนไข้ และบุคลากรทางการแพทย์ ในหน่วยบริการทุกระดับ จำนวน 1 พันคน
แต่ดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมายของทั้งโครงการ 1 หมื่นคน โดยมีผู้ลงทะเบียน 16,500 คน ผ่านการอบรมแล้ว 10,127 คน, การบรรจุพยาบาลเข้าสู่ตำแหน่ง เป้าหมาย 50% บรรจุแล้ว 2,433 อัตรา จาก 3,318 อัตรา คิดเป็น 73.3%, กำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษของพยาบาลวิชาชีพ 10,124 ตำแหน่ง ดำเนินการแล้ว 9,489 ตำแหน่ง คิดเป็น 93.73% และยังเห็นชอบให้แพทย์ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ลาศึกษาใน 13 หลักสูตร ได้รับยกเว้นการลาและได้รับการเลื่อนเงินเดือนระหว่างลาด้วย
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ประเด็น Quick Win อื่นๆ ดำเนินการได้ตามเป้าหมายเช่นกัน ได้แก่ ประเด็นที่ 1 โครงการพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติ และที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ มีการจัดตั้งเครือข่ายราชทัณฑ์ปันสุขต้นแบบครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติและโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทั้ง 32 แห่ง ผ่านเกณฑ์ประเมินโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ (Smart Hospital) ระดับเงิน ประเด็นที่ 2 โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑล สามารถจัดตั้งโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง จำนวน 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลประจำเขตดอนเมือง เป็นบริการร่วมระหว่างโรงพยาบาลราชวิถี 2 และโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) และโรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในเขตเมืองได้อย่างมาก ประเด็นที่ 3 สุขภาพจิต/ยาเสพติด มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้ครบทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 92 โรงพยาบาล รวม 1,458 เตียง
ประเด็นที่ 6 สถานชีวาภิบาล เป้าหมายอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่ง สามารถจัดตั้งได้ 137 แห่ง ใน 44 จังหวัด ครบทั้ง 13 เขตสุขภาพ ประเด็นที่ 7 บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ นำร่องครบตามเป้าหมาย 4 จังหวัด ใน 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส โดยมีการเชื่อมข้อมูลครบ 100% พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 10 มกราคม 2567
ส่วนโรงพยาบาลอัจฉริยะ ดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมาย 200 แห่งทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับเงิน 799 แห่ง จาก 901 แห่ง คิดเป็น 88.68% ประเด็นที่ 8 ส่งเสริมการมีบุตร มีการจัดทำร่างวาระแห่งชาติแล้ว เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ต่อไป ประเด็นที่ 9 เศรษฐกิจสุขภาพ มีการจัดตั้ง Blue Zone เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน ครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ รวม 20 แห่ง แบ่งเป็น เขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 8 แห่ง และเขตสุขภาพที่ 2-12 อีกเขตละ 1 แห่ง และ ประเด็นที่ 10 นักท่องเที่ยวปลอดภัย ได้จัดตั้งทีม Sky Doctor ครบทั้ง 13 เขตสุขภาพตามเป้าหมาย
นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการดูแลประชาชนที่เดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า ขอย้ำเตือนเรื่อง “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” (Drink Don't Drive) โดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะจัดบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึง อสม. ไปช่วยดูแลประชาชนตามด่านตรวจตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับทีมกู้ชีพกู้ภัยที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีในกรณีหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยจะมีการปล่อยขบวนรถทีมกู้ชีพกู้ภัยในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ เวลา 08.00 น. บริเวณหน้าเสาธง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการดูแลชีวิตและความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข ว่า สำหรับนโยบายสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรคนทำงานนั้น มีเรื่องการอบรมพัฒนาสร้างประสิทธิภาพบุคลากรเป็นเสมือนญาติเฉพาะกิจ ที่เรียกว่า ทีม CareD+ ในหน่วยบริการทุกระดับ เป็นการทำงานประสานใจ การสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างบุคลากรและผู้ป่วย และญาติ โดยได้ส่งมอบทีมงานที่ผ่านการอบรมแล้ว 1,000 คนภายในเดือนธันวาคมนี้แล้ว ซึ่งเป้าหมายต้องการสร้างให้ได้ 10,000 คน แต่ตอนนี้มีคนสนใจลงทะเบียนอบรมถึง 16,500 คน โดยมีคนผ่านการอบรมแล้ว 10,127 คน ซึ่งเมื่อประชาชนเข้าไปรับบริการจะพบทีมนี้คอยดูแล
นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าเรื่องการบรรจุพยาบาลเข้าสู่ตำแหน่ง เป้าหมายคือร้อยละ 50 จาก 3,318 อัตรา ขณะนี้บรรจุไปแล้ว 2,433 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 73.3 และมีการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการพิเศษจำนวน 10,120 ตำแหน่ง ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 9,489 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 93.73
“ที่สำคัญล่าสุดมติ อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้สิทธิแพทย์ประจำบ้าน 13 สาขาที่ขอลาศึกษาให้เสมือนไปปฏิบัตราชการ ได้มีการพิจารณาเงินเดือนได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าตอบแทนต่างๆได้เหมือนปกติ เป็นการโน้มน้าวให้แพทย์เรียนสาขานี้เพิ่มเติม เป็นการสร้างแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะครอบคลุมสาขาต่างๆ อย่างสูตินรีแพทย์ หรือหมอเด็กก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะปัจจุบันแพทย์ไม่ค่อยเรียนมาก ประกอบกับเข้ากับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ให้มีแพทย์เฉพาะทางรองรับด้วย” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามเหตุผลการให้สิทธิแพทย์ประจำบ้าน 13 สาขา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นสาขาที่มีความจำเป็นตามแนวยุคใหม่ที่เน้นบริการปฐมภูมิเป็นหลัก ซึ่งจะมาตอบโจทย์เป็นการโน้มน้าวชักจูงให้มาศึกษา เมื่อลาศึกษาต่อ และเงินเดือนหยุดชะงักก็อาจทำให้ความก้าวหน้าลดลงได้ จึงมีมติดังกล่าวออกมา โดย 13 สาขา ประกอบด้วย 1. เวชศาสตร์ครอบครัว 2. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีทุกสถานพยาบาล โดยขณะนี้ปลัดสธ.กำลังกระจายให้ทั่วถึง 3. อาชีวเวชศาสตร์ 4. ศัลยศาสตร์ เป็นสาขาหลักแต่พบว่ายังขาด คนเรียนน้อยลง 5. วิสัญญีวิทยา 6. เวชศาสตร์ฟื้นฟู ต้องเร่งจูงใจเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 7. สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา 8. กุมารเวชศาสตร์ 9. อายุรศาสตร์ 10. ออร์โธปิดิกส์ 11. อายุรศาสตร์โรคไต 12. อายุรศาสตร์โรคระบบหายใจ และภาวะวิกฤตระบบการหายใจ และ13. อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
“ทั้งหมดเป็นสาขาที่ต้องตอบโจทย์ยุคนี้ โดยการลาเรียนของแพทย์สาขาดังกล่าว ไม่ต้องกังวลเรื่องภาระงาน เพราะจะมีการจัดระบบแพทย์ มีการทดแทน การกระจายตำแหน่ง เป็นเรื่องการบริหารจัดการ” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ได้แก่
-
พาหมอไปหาประชาชน ซึ่งเป็นบริการที่ออกไปให้บริการประชาชนถึงที่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการคัดกรองมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่/ไส้ตรง เพื่อลดการเสียชีวิต คัดกรองสายตาเด็ก ผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าตัดนิ้วล็อก และทำขาเทียม
-
การฉีดวัคซีนเอชพีวีป้องกันหญิงไทยจากมะเร็งปากมดลูก ซึ่งฉีดไปแล้วกว่า 1.4 ล้านโดส และจะยังให้บริการต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคมฉีดอีก 1.6 ล้านโดส
-
เพิ่มสิทธิรักษามะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการใช้รังสีโปรตอนที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษาเด็กที่เป็นมะเร็งสมอง ซึ่งไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อปกติรอบก้อนมะเร็ง, การฝังแร่เฉพาะที่สำหรับผู้ป่วยเนื้องอกในตา และใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดรักษามะเร็ง 3 รายการ คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง และมะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี ซึ่งเดิมไม่สามารถเบิกจ่ายได้
-
Drink Don't Drive ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่าช่วง 7 วันอันตราย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จึงจัดทำยาดมเบญจชื่นจิต โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีส่วนผสมจากสมุนไพรทั้งมะลิ พิกุล บุนนาค สารภี บัวหลวง เปลือกส้มโอ น้ำมันกุหลาบ แจกที่ด่านพักรถต่างๆ จำนวน 3 แสนชิ้น รวมทั้งยาแก้ไอมะขามป้อม ยาหอม ยาลม เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีอาการง่วงนอนขับรถต่อไม่ไหว ขอให้จอดพักที่ด่านตรวจซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดอันตรายในการเดินทาง