ปปง.ยึดทรัพย์ รถยนต์หรู 2 คัน โฉนด 3 แปลง 12 ล. คดีหลอกลงทุนขายหวย อ้างรู้จักเมียนายทหารใหญ่ระดับแม่ทัพภาค สนิท ผ.อ.กองสลาก ได้โควตาพิเศษราคาถูก เสนอผล ปย.ตอบแทน 2 - 5 บาท/ใบ ผู้เสียหายหลงเชื่อสูญ 117.1 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ย. 237 /2566 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย ให้นำเงินมาร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอ้างว่ารู้จักภรรยาของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับแม่ทัพภาคและสนิทกับผู้อำนวยการกองสลาก จึงได้โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาในราคาพิเศษหรือถูกกว่าท้องตลาด และเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนใบละ 2 - 5 บาท ต่อใบต่องวด ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อและโอนเงินเข้าร่วมลงทุนให้กับกลุ่มผู้ต้องหา เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายรวมจำนวนทั้งสิ้น 117,108,031 บาท
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า คำสั่งระบุว่า สำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม ตามหนังสือที่ ตช 0026.63/3085 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เรื่อง ขอให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รายนายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน กล่าวคือ
สืบเนื่องจากก่อนเกิดเหตุ นายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล หรือนายภาณุวัฒน์ กลิ่นสัมผัส ผู้ต้องหาที่ 1 นางสาวรพีพรรณ กลิ่นสัมผัส ผู้ต้องหาที่ 2 และนางสาวรัชฎาภรณ์ ถึงลาภ ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย คือนางสาวธัญญ์ฐิตา ทรัพย์ศิรินารากุล หรือนางสาวนันทนา โพธิ์ศรี และนางสาวณัชชา ชมวงศ์ ให้นำเงินมาร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอ้างว่ารู้จักภรรยาของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับแม่ทัพภาคและสนิทกับผู้อำนวยการกองสลาก จึงได้โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาในราคาพิเศษหรือถูกกว่าท้องตลาด และเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนใบละ 2 - 5 บาท ต่อใบต่องวด ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อและโอนเงินเข้าร่วมลงทุนให้กับกลุ่มผู้ต้องหา โดยในการลงทุนช่วงแรกกลุ่มผู้ต้องหาได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามที่กล่าวอ้างจริง
หลังจากนั้นนายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล อ้างว่าเจ้านายในกองสลากได้เพิ่มโควตาให้ จึงต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีกผู้เสียหายทั้งสองจึงได้โอนเงินลงทุนไปให้กับกลุ่มผู้ต้องหาเพื่อลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีนายสิทธา สมควรดี นางสาวกนักนภา เหลืองสุวรรณ นางสาวญานิกา เหลืองสุวรรณ และนางปรียานุช อินทะ. หลงเชื่อ และโอนเงินมาร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้ต้องหาด้วยเช่นกัน โดยได้รับผลตอบแทนที่อ้างว่าเป็นผลกำไรกลับมาเป็นช่วง ๆ แต่ยังไม่คืนเงินลงทุนให้กับผู้เสียหาย และต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นางสาวธัญญ์ฐิตา ทรัพย์ศิรินารากุล ได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทำให้ทราบว่าไม่มีโควตาตามที่กล่าวอ้าง กลุ่มผู้ต้องหามีเจตนาร่วมกันหลอกลวงเอาเงินจากกลุ่มผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก ไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเงินไปลงทุนซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อให้ได้ผลกำไรมาตอบแทนให้แก่กลุ่มผู้เสียหายแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายรวมจำนวนทั้งสิ้น 117,108,031 บาท จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับนายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เป็นคดีอาญาที่ 7/2565 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เหตุเกิดระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565
หลังจากมีการรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนว่าทางคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอจึงเห็นควรสั่งฟ้องนายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล หรือนายภาณุวัฒน์ กลิ่นสัมผัส ผู้ต้องหาที่ 1 นางสาวรพีพรรณ กลิ่นสัมผัส ผู้ต้องหาที่ 2 และนางสาวรัชฎาภรณ์ ถึงลาภ ผู้ต้องหาที่ 3 ในความผิด ฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 3 นายนลธวัช ภูมิดา ผู้ต้องหาที่ 4 และนางสาวอัจฉรา นิเวศรัมย์ ผู้ต้องหาที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและมีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
คำสั่งระบุอีกว่า ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.416/2566 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายนายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายรัฐกรณ์ ศิวัฒศิริสกุลกับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้ง
จากการรวบรวมพยานหลักฐานปรากฏว่าบุคคลดั่งกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 9 รายการ พร้อมดอกผลและเนื้องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภททองรูปพรรณ กระเป๋า และนาฬิกา อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน ในการควบคุม การเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว
โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่ายและเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองโดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือช่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายรัฐกรณ์ ศิวัฒนศิริสกุล กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่องการตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 9 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2567 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ทรัพย์สินที่ถูกยึดจำนวน 9 รายการมูลค่า 12,442,500 บาท ได้แก่ นาฬิกาข้อมือ กระเป๋าถือ 4 รายการ รถยนต์ ยี่ห้อ BMW 2 คัน ที่ดินตามโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จ.ขอนแก่น 1 แปลง และที่ดินตามโฉนดใน จ.ขอนแก่น 1 แปลง และ อ.ปักธงชัย นครราชสีมา 1 แปลง