ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาฯปี 67 ลดค่าธรรมเนียมโอน ‘บ้าน’ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 1% พร้อมหั่นค่าจดจำนองฯเหลือ 0.01% ขณะที่ ‘คลัง’ เดินหน้าแจกของขวัญปีใหม่ 'ชุดใหญ่'
.......................................
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (26 ธ.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและรับทราบการดำเนินมาตรการ/โครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ให้แก่ประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
1.1 มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์
โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
1.2 มาตรการ “Easy E-Receipt” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท
โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ (1) ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร (2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
และ (3) ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
อย่างไรก็ดี ค่าสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถหักลดหย่อนได้ไม่รวมถึง (1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ (2) ค่าซื้อยาสูบ (3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ (4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
(5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม และ (6) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิติบุคคลสามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://etax.rd.go.th และสำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Time Stamp ซึ่งเป็นระบบที่เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th/27659.html
@เสริมสภาพคล่อง-ลดภาระดอกเบี้ยให้ประชาชน
2.มาตรการ/โครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และเสริมสร้างวินัยการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 19 มาตรการ/โครงการ ได้แก่
2.1 โครงการมีออม มีลุ้น กับสลากออมสิน 2 ปี ฉลองปีใหม่ (ธนาคารออมสิน) เพื่อส่งเสริมการออมผ่านสลากออมสิน สำหรับผู้ฝากสลากออมสินพิเศษ 2 ปี ทั้งแบบสลากและดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2566–31 มกราคม 2567 วงเงินรางวัลพิเศษรวมจำนวน 111 ล้านบาท กำหนดการออกรางวัลจำนวน 1 ครั้ง สำหรับงวดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
2.2 โครงการวินัยดี มีเงิน (ธนาคารออมสิน) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกค้าที่มีวินัยทางการเงิน สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อ วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท ที่ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขของธนาคาร เช่น มีประวัติการชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นต้น จะได้รับเงินรายละ 500 บาท ซึ่งสามารถกดรับสิทธิผ่าน Application MyMo ได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567
2.3 โครงการสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร: ธ.ก.ส.) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตร ช่วยเหลือลูกค้าเกษตรและผู้มีรายได้น้อยตลอดห่วงโซ่สินค้าเกษตร และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เกษตรเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก และคงอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 3–4 ที่ร้อยละ 4 ต่อปี หากปฏิบัติตามเงื่อนไขของธนาคาร และได้รับส่วนลดค่าวิเคราะห์ 10,000 บาท สำหรับลูกค้าที่เปิดบัญชีเงินกู้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2567 และมีวงเงินกู้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567
2.4 โครงการชำระดีมีโชค (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ลูกค้าที่มีศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ได้รับสิทธิการลุ้นรางวัล รวม 500 ล้านบาท จากการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มิถุนายน 2567
2.5 โครงการผลิตภัณฑ์สินเชื่อแทนคุณ (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) มีหนี้สินเป็นภาระหนัก ไม่สามารถชำระหนี้ได้ด้วยตนเอง และมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อให้ทายาทที่รับช่วงการประกอบอาชีพปิดชำระหนี้เดิม จะได้รับอัตราดอกเบี้ยและสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567
2.6 โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ (ธ.ก.ส.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพการเกษตร อาชีพนอกภาคเกษตร หรืออาชีพที่มีลักษณะเป็นการลงทุนค้าขายเพื่อเลี้ยงชีพในครัวเรือน กรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน และกรณีกู้เพื่อเป็นค่าลงทุน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567
2.7 โครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน (ธ.ก.ส.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมในลักษณะ Smart Farmer กรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน และกรณีกู้เพื่อเป็นค่าลงทุน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 15 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567
2.8 โครงการสินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนเงินทุนและช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ยามวิกฤติ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR - 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2.9 โครงการของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธนาคารอาคารสงเคราะห์: ธอส.) เพื่อส่งเสริมการมีวินัยทางการเงินในการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย และเติมกำลังซื้อเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่ สำหรับการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ผ่าน Application “GHB ALL GEN” โดยได้รับเงินรายละ 1,000 บาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
2.10 มาตรการผ่อนดี มีให้ (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย: ธพว.) เพื่อลดภาระค่างวด เสริมสภาพคล่อง และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับลูกค้ากลุ่มเข้มแข็ง ของ ธพว. โดยได้รับการลดภาระค่างวดสูงสุดร้อยละ 40 นานสูงสุด 6 เดือน และสำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติการผ่อนชำระดีจะได้รับชุดของขวัญสินค้า SMEs มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567
2.11 มาตรการเติมทุน เสริมแกร่ง (ธพว.) เพื่อลดภาระค่าประเมินหลักประกันให้กับลูกค้ากลุ่มเข้มแข็งของ ธพว. โดยจะได้รับการยกเว้นค่าประเมินหลักประกันมูลค่าสูงสุด 30,000 บาท และโปรแกรมพัฒนายกระดับธุรกิจก้าวทันยุคดิจิทัลมูลค่ารวม 10,000 บาท และบริการปรึกษาแบบเจาะลึก Exclusive D-Coach เมื่อขอสินเชื่อและใช้วงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ภายในเดือนมีนาคม 2567
2.12 มาตรการพัก ลด จบไว ลดภาระทางการเงิน (ธพว.) เพื่อเป็นการช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง โดยจะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567
2.13 มาตรการปิด ปรับ เปลี่ยน (SME 21) (ธพว.) เพื่อเป็นการช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มลูกหนี้ SME 21 โดยจะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567
2.14 โครงการผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนสินเชื่อ ESG (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย: ธสน.) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 2.99 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Front-end Fee) เป็นระยะเวลา 2 เดือน
2.15 โครงการผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มต้นการส่งออก (ธสน.) เพื่อลดภาระค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Front-end Fee) ให้กับผู้ประกอบการที่เริ่มต้นการส่งออก เป็นระยะเวลา 2 เดือน
2.16 โครงการสำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ (5 จังหวัดชายแดนใต้) (ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย: ธอท.) เพื่อสนับสนุนลูกค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยการยกเว้นค่าประเมินหลักประกัน และเพื่อสนับสนุนลูกค้าธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ยื่นขอสินเชื่อในระยะเวลาดำเนินโครงการ โดยลูกค้ารายใหม่ที่ยื่นขอสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Long term) จะได้รับยกเว้นค่าจัดทำนิติกรรมสัญญา และลูกค้ารายเดิมที่ยื่นขอสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Long term) และมีประวัติการชำระหนี้ดี สามารถยื่นพักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะกำไร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2567
2.17 โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายย่อยและลูกค้าธุรกิจ (ธอท.) เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (Non-Performing Financing : NPFs) โดยสามารถตัดชำระเงินต้นสูงสุดร้อยละ 50 ของค่างวดที่ชำระ อัตรากำไรพิเศษ และส่วนลดเบี้ยปรับผิดนัดชำระ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2567
2.18 โครงการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกัน (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม: บสย.) เพื่อลดภาระค่าดำเนินการค้ำประกันให้กับลูกค้า บสย. ที่อยู่ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS 10) และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน Bilateral Phase 7 (BI 7) โดยจะได้รับการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับ SMEs ที่ส่งคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 - 31 มกราคม 2567
2.19 โครงการ บสย. พร้อมช่วย (บสย.) เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ของ บสย. โดยมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น สามารถตัดเงินต้นได้ทั้งจำนวนของยอดชำระ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ลดเงินต้นสูงสุดร้อยละ 15 เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ บสย. กำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
@เร่งปรับปรุง‘ยอดหนี้’ผู้กู้ยืม กยศ.-ชะลอฟ้องลูกหนี้
3.มาตรการ/โครงการอื่น โดยหน่วยงานในสังกัดฯ มีการจัดทำมาตรการ/โครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2567 ได้แก่
3.1 โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ให้แก่ประชาชน (กรมธนารักษ์) กรมธนารักษ์เปิดพิพิธภัณฑ์สังกัดกรมธนารักษ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1) พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ 2) พิพิธบางลำพู 3) พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ 4) พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา และ 5) พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 14 มกราคม 2567
3.2 โครงการซื้อทรัพย์สินรอการขาย (Non - Performing Asset: NPA) รับส่วนลดสูงสุด 30% สำหรับทรัพย์ที่เข้าร่วมรายการ เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 (บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด: บสอ.) เพื่อแบ่งเบาภาระผู้สนใจซื้อทรัพย์ NPA ให้มีที่อยู่อาศัย ค้าขาย หรือลงทุนในราคาต่ำ สามารถเข้าชมรายการทรัพย์ NPA ที่เข้าร่วมรายการได้ที่ www.iam-asset.co.th ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สิ้นสุดวันที่ 29 มีนาคม 2567 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
3.3 แผนงาน “มอบแอลกอฮอล์ป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรค” เพื่อสนับสนุนภารกิจองค์การสุรา กรมสรรพสามิต (องค์การสุรา กรมสรรพสามิต) โดยองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงขอมอบผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์บริสุทธิ์แก่ประชาชนและหน่วยงานของรัฐ อาทิ โรงพยาบาล การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในบริเวณพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 - เดือนมกราคม 2567
3.4 โครงการ “ดนตรีในสวน @ยาสูบเชียงราย” (การยาสูบแห่งประเทศไทย) สํานักงานยาสูบเชียงรายได้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยจัดให้มีกิจกรรมสันทนาการ/เปิดโอกาสให้นักดนตรี (เยาวชน) ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ รวมทั้งจัดให้มีการจำหน่ายสินค้า/พืชผลทางการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย ณ สำนักงานยาสูบเชียงราย ในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 และวันที่ 6, 13, 20 มกราคม 2567 เวลา 17.00 น. – 22.00 น.
3.5 โครงการ “กองทุนการออมแห่งชาติมอบของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ 300,000 สิทธิ” (กองทุนการออมแห่งชาติ: กอช.) โดยสมาชิก กอช. จะได้รับความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ สูงสุด 100,000 บาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 จากทิพยประกันภัย ระยะเวลา 30 วันนับถัดจากวันลงทะเบียนรับสิทธิ โดยสามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 – วันที่ 5 มกราคม 2567 จำนวน 300,000 สิทธิ
3.6 มาตรการชะลอการฟ้อง ชะลอการบังคับคดี และชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์ (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา: กยศ.) เพื่อชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดีและการขายทอดตลาดกับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ (ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ)
3.7 โครงการปรับปรุงยอดหนี้ของผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นับแต่วันที่พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ (กยศ.) เพื่อปรับปรุงยอดหนี้ของผู้กู้ยืมเงิน
โดยนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ โดยนำเงินไปตัดชำระต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ในการคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ดังกล่าวกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และในกรณีผิดนัดชำระหนี้คิดเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี
3.8 โครงการเกียรติบัตรผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาดีเด่น (กยศ.) โดยมอบเกียรติบัตรให้กับผู้กู้ยืมที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี
3.9 โครงการนำร่องการให้กู้ยืมเงินในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) (กยศ.) เพื่อให้การให้กู้ยืมเงินในหลักสูตรอาชีพระยะสั้น โดยนำร่องด้วยการให้กู้ในสาขาด้านการบริบาล
3.10 มาตรการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน และการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ : สำนักงาน ก.ล.ต.) ผู้ลงทุน Thai ESG ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อยภาษีวงเงิน 100,000 บาท/ปี สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ประสงค์จัดตั้งกองทุนรวม Thai ESG ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้ง สำหรับคำขอที่ยื่นระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2567
3.11 มาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนรวมอีทีเอฟเพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวม ETF เพื่อให้มีความหลากหลายและรองรับความต้องการของผู้ลงทุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2566
3.12 โครงการ IPO Fact Figure (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยมีการปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อให้มีศูนย์รวมข้อมูลสถิติหุ้น IPO และเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566
3.13 มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ filing) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีสำหรับบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศเพื่อเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แก่บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน และบริษัทจดทะเบียน
โดยขยายระยะเวลาของมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการยื่น filing และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี สำหรับบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีการจ้างผู้ทวนสอบในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ออกไปอีก 3 ปี รวมทั้งขยายขอบเขตการลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัทนำมาขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ทวนสอบและ/หรือที่ปรึกษาในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี โดยประกาศมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
3.14 โครงการ “การลดข้อจำกัดการลงทุนในโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุนรายย่อย” (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real-estate backed ICO) หรือมีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (Infra-backed ICO) โดยยกเลิกการจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยต่อรายต่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว จากเดิมกำหนดให้ไม่เกินรายละ 300,000 บาท คาดว่าจะมีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม 2567
3.15 โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ 2567 (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย: สำนักงาน คปภ.) โดยมี 2 ประเภทกรมธรรม์ ได้แก่ (1) กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวได้อุ่นใจ (ไมโครอินชัวรันส์) ให้ความคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 5,000 บาท และ (2) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ปีใหม่สุขใจ ฝากบ้านไว้กับประกันภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ให้ความคุ้มครองสูงสุด 30,000 บาท คุ้มครองโจรกรรม 5,000 บาท ให้ความคุ้มครองระยะเวลา 30 วัน เบี้ยประกันภัย 10 บาท
“การดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความสุขและขวัญกำลังใจให้ประชาชนคนไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ใกล้จะถึงนี้” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว