‘ญี่ปุ่น’ จ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์โครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ หลังไทยออกไป Road Show ผอ.สนข.กางไทม์ไลน์ปี 67 เสนอรายงาน EHIA ให้จบกลางปี ก่อนที่ปลายปี ชง ครม. อนุมัติโครงการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 ธันวาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะเร่งเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge) หรือแลนด์บริดจ์
โดยกระทรวงคมนาคม มีการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการลงทุน และได้เร่งรัดแผนงานดำเนินการพัฒนาท่าเรือฝั่ง จ.ระนอง และจ.ชุมพร รวมถึงระบบขนส่งเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ 2 ฝั่ง ด้วยรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เพื่อพลิกโฉมพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับโลก ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) โดยล่าสุดได้ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการแลนด์บริดจ์ ในการประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสนใจเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่คาดว่าจะมี 20 บริษัท แต่มีเข้ามาหารือจริงมากกว่านั้น รวมถึงได้รับความสนใจจากผู้บริหารระดับสูงของญี่ปุ่นอย่างมาก มีการติดต่อสอบถามเพิ่มเติม รวมถึงจะส่งคณะทำงานเดินทางมาร่วมหารือที่กระทรวงคมนาคมหลังจากนี้
นอกจากนี้ ทางธนาคารโลกยังสนใจให้การสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์อีกด้วย และขณะนี้ทางสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาขับเคลื่อนโครงการแล้ว เช่นเดียวกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แล้ว
@ญี่ปุ่นจ้างที่ปรึกษา สแกนแลนด์บริดจ์ ประกบ สนข.
ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์อย่างมาก โดยมีกว่า 20 บริษัท ที่เข้าร่วมหารือ โดยให้ความสนใจสอบถามรายละเอียดการลงทุนโครงการ นอกจากนี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่น โดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม หรือ METI ได้แจ้งว่า ขณะนี้ ญี่ปุ่นได้ว่าจ้างบริษัท KPMG เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์โครงการ โดยญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาพบ สนข. อย่างเร็วภายในในสัปดาห์หน้า
“ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยอย่างมาก โดยได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์แล้ว ซึ่งไทยยินดีหากทางญี่ปุ่นจะร่วมศึกษารายละเอียด เพราะถือว่าทางญี่ปุ่นมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการท่าเรือขนาดใหญ่ ซึ่งสนข.จะได้ผลการศึกษาวิเคราะห์ ของบริษัท KPMG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิเคราะห์ในการดำเนินโครงการด้วย ถือเป็นข้อดีที่จะมีข้อมูลที่หลากหลายและได้จากที่ปรึกษามืออาชีพระดับโลก
@ชง EHIA กลางปี 67 ปลายปีขออนุมัติ ครม.
สำหรับความคืบหน้าในการศึกษาของสนข. ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาและลงทุนโครงการ โดยเฉพาะการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) ซึ่งต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไปโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2567
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการ ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ…. หรือ ร่างกฎหมายแลนด์บริดจ์ ( SEC-Southern Economic Corridor ) เพื่อเป็นกฎหมายเฉพาะในการรองรับการพัฒนา และจัดตั้งสำนักงานSEC เพื่อขับเคลื่อนเหมือนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC)
พร้อมกันนี้ ยังได้มีการศึกษาจัดทำร่าง RFP เพื่อคัดเลือกผู้ลงทุน โดยคาดว่าปลายปี 2567 จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติเปิดประกวดราคา