สื่อนอกชี้เหตุ 9 คนไทยโกหก อ้างถูกหลอกเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กัมพูชา หวังถูกส่งตัวกลับประเทศไทยไม่ถูกดำเนินคดี ส่อกระทบความน่าเชื่อถือคนไทยด้วยกัน หวั่นเอื้อประโยชน์องค์กรอาชญากรรมล่อลวงเหยื่อต้องการหางานทำ-เผยตอนนี้เจ้าหน้าที่ 2 ชาติเตรียมสอบแรงจูงใจแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์ฉ้อโกงในประเทศเพื่อนบ้านไทยที่มีผลโยงมาถึงประเทศไทยว่าสำนักข่าว BNN Online ของมาเลเซียได้รายงานข่าวในกรณีที่ทางการไทยและกัมพูชาได้เปิดเผยถึงกรณีที่คนไทยจำนวนเก้าคนถูกกล่าวหาว่าดำเนินการจัดฉากหลอกลวงว่าตัวเองถูกหลอกให้มาเป็นนักต้มตุ๋น หรือสแกมเมอร์ เพื่อที่จะไม่ต้องรับผลกระทบทางกฎหมายในประเทศกัมพูชา
โดยตอนนี้มีการเปิดโปงว่าบุคคลทั้งเก้าคนนั้นแท้จริงแล้วมีความตั้งใจจะเดินทางไปประเทศกัมพูชาเพื่อจะให้ได้รับการจ้างงานและมีส่วนในการหลอกลวงเสียเอง
สำนักข่าว BNN รายงานว่าการเล่าเรื่องของคนไทยกลุ่มนี้ที่อ้างว่าตัวเองถูกหลอกให้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือต้องไปทำงานให้กลุ่มอาชญากรในต่างประเทศ ตอนนี้กำลังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่
โดยคนไทยในตอนแรกถูกนำเสนอในข่าวว่าตกเป็นเหยื่อต้องไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์เพื่อหลอกลวงฉ้อโกง และต้องไปทำงานในประเทศกัมพูชาโดยไม่สมัครใจ อย่างไรก็ตามจากากรตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าพวกเขาเต็มใจจะเดินทางไปกัมพูชาเพื่อหาโอกาสในการทำงานและหลังจากสะสมรายได้มากพอ คนไทยกลุ่มนี้ก็จัดฉากสร้างสถานการณ์ว่าตัวเองถูกหลอกลวงมาทำงานและอยู่ในอันตรายเพื่อจะได้รับการถูกสั่งตัวกลับประเทศไทยโดยไม่มีผลทางกฎหมาย
ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบแรงจูงใจของคนไทยที่วางแผนอันซับซ้อนนี้ว่ามาจากอะไรกันแน่
การเปิดเผยเรื่องหลอกลวงนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคนไทยและความเปราะบางของพวกเขาในการถูกล่อลวงให้ทํางานผิดกฎหมายหรือแสวงหาผลประโยชน์ในต่างประเทศ ปัญหานี้เป็นปัญหาสําคัญและจะเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรอาชญากรรมที่ต้องการล่อลวงเหยื่อที่ไม่มีความระแคะระคายอะไรและต้องการหางานทำ
โดยกรณีการหลอกลวงของกลุ่มคนไทยกลุ่มนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการล่อลวงไปทำงานในต่างประเทศ และต้องมีการประเมินแนวทางการแก้ไขปัญหากันอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ประเทศกัมพูชาพยายามปรับปรุงสภาพการจ้างงานและให้โอกาสในการทํางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยหนึ่งในความพยายามดังกล่าวก็คือการเดินหน้าโครงการ Better Factories Cambodia (BFC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงความปลอดภัยในการทํางานระบบทรัพยากรมนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศในภาคส่วนอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าโดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดบุคคลที่กําลังมองหางานในกัมพูชา
ส่วนทางการไทยและกัมพูชากําลังทํางานร่วมกันเพื่อจัดการกับการกระทําที่หลอกลวงโดยคนไทย โดยทั้งสองประเทศตระหนักถึงความสําคัญของการรับผิดชอบและยับยั้งผู้อื่นจากการพยายามกระทําการที่คล้ายคลึงกัน ความร่วมมือระหว่างสองประเทศมีความสําคัญต่อการรับรองความยุติธรรมและเป็นแบบอย่างที่จะไม่ยอมให้มีการปฏิบัติที่หลอกลวงเกิดขึ้นไม่ว่าประเทศใดก็ตาม
เรียบเรียงจาก:https://bnnbreaking.com/breaking-news/crime/thai-nationals-stage-deception-to-evade-legal-consequences-in-cambodia/,https://www.khmertimeskh.com/501411619/authorities-expose-twist-in-call-center-scam-case-involving-thais/