ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'ฉลอง คำพุด' อดีตนายก อบต.ภูน้ำหยด อำเภอวิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ เบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ โดยไม่มีหลักฐาน-จ่ายเงินแก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิรับเงิน ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 พิพากษาลงโทษ จำคุก 19 กระทง 38 ปี 114 เดือน ไม่รอลงอาญา หลังเจ้าตัวรับสารภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา นายฉลอง คำพุด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภูน้ำหยด อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ กับพวก เบิกจ่ายเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพของ อบต.ภูน้ำหยด ระหว่าง พ.ศ.2555 -2557 โดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายและจ่ายเงินแก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิรับเงิน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,151, 157 และ มาตรา 162 (1) , (4) ประกอบมาตรา 91 พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาว่า การกระทำของ นายฉลอง คำพุด จำเลย มีความผิดตามกฎหมาย เจ้าตัวให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ สมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
คงจำคุก กระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 19 กระทง เป็นจำคุก 38 ปี 114 เดือน
ให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 302/2565 หมายเลขแดงที่ อท 227/2566 ของศาลนี้ กับให้จำเลยคืนเงินหรือใช้เงิน 983,400 บาท แก่ อบต.ภูน้ำหยดหรือกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ของ อบต.ภูน้ำหยด ผู้เสียหาย
ทั้งนี้ คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 มีมติเห็นชอบตามที่อัยการสูงสุด (อสส.) หารือจะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 เห็นควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษา
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน