รองผู้ว่าฯกทม.เผย เตรียมศึกษาโอน ‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’ ให้ รฟม.ดูแลเพิ่มอีก 1 สายทาง หลังพบแบกภาระขาดทุนต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละ 12.6 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 ธันวาคม 2566 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.กำลังพิจารณาที่จะเพิ่มโครงการรถไฟฟ้าในการกำกับของ กทม. โอนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สังกัดกระทรวงคมนาคมไปกำกับดูแล
โดยแต่เดิม กทม. พิจารณาที่จะโอนโครงการรถไฟฟ้า 2 โครงการให้ รฟม. ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ วงเงินลงทุน 29,130 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 48,380 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้อยู่ในแผนที่ กทม.ศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการลงทุน และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด มีแนวคิดที่จะเพิ่มอีกสายทางหนึ่งคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี - คลองสาน ระยะทาง 1.8 กม. ซึ่งรถไฟฟ้าสายนี้ กทม.ได้มอบให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) เป็นผู้ดำเนินการจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้เดินรถในระยะเวลาสัญญา 30 ปี ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ แต่ใช้รายได้ล่วงหน้าจากการให้สิทธิ บจ.สยามพิวรรรธน์ เจ้าของโครงการไอคอนสยาม ใช้พื้นที่โฆษณาบนรถไฟฟ้า วงเงิน 2,000 ล้านบาท มาลงทุนก่อสร้างโครงการและจ้างเดินรถดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง จะต้องดูรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่งว่า จะต้องมีกระบวนการในการโอนให้กับรัฐบาลกลางอย่างไร เพราะเป็นโครงการที่ กทม. มอบหมายทางกรุงเทพธนาคมดูแลด้วย ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาในเร็วๆนี้ได้
แหล่งข่าวจากกทม. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงไอเดียที่ทางนายวิศณุเสนอมาในการประชุมครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องกำลังทำข้อมูลอยู่ เพราะการจะโอนสายสีทองให้ รฟม. ไม่ง่ายเหมือนสายสีเงินและเทาที่ทั้งโครงการยังเป็นแผนอยู่ แต่สายสีทองมีส่วนหนึ่งที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ดังนั้น จึงต้องดูกระบวนการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ กทม.เคยทำเรื่องรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการก่อนหน้านี้
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 5,000 เที่ยวคน/วัน อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 16 บาทตลอดสาย คิดเป็นรายได้ต่อเดือนประมาณ 2.4 ล้านบาท ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 12.6 ล้านบาท
ที่มาภาพ: กรุงเทพมหานคร