'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' วิเคราะห์ผลงาน-การทำงาน 100 วัน 'รัฐบาลเศรษฐา' แนะหาก 'ดิจิทัลวอลเลต' ทำไม่ได้ ควรมีแผน 2
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงวิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐา ในช่วง 100 วันแรก
นายพิธา กล่าวว่า วิเคราะห์ผลงานรัฐบาลในช่วง 100 วันแรกด้วยกรอบแนวคิด 5 คิด ได้แก่
1. คิดดี ทำได้ ซึ่งอันนี้เป็นข้อดีของรัฐบาล ได้แก่ ในเรื่องของการช่วยเหลือแรงงานไทยอิสราเอลในวิกฤตอิสราเอล-ฮามาส การฉีดวัคซีน HPV 1,000,000 โดส การบริหารจัดการหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ที่รัฐบาลเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคือสิ่งใด
2. คิดไป ทำไป การปรับเปลี่ยนรายละเอียดของนโยบายดิจิทัลวอลเลต ได้แก่ ที่มาของเงิน ผู้ที่จะได้รับเงิน เทคโนโลยีที่ใช้ เรื่องของเงินเดือนข้าราชการ และโครงการแลนด์บริดจ์
3. คิดสั้น (ยัง)ไม่คิดยาว เรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของประชน ได้แก่ ค่าไฟ ค่าพลังงาน ค่าคมนาคม เช่น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
4. คิดใหญ่ ทำเล็ก เรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เช่น Soft power การบริหารการท่องเที่ยวผ่านวีซ่าฟรี อีกทั้งยังมีเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศ เช่น ที่ดิน สปก. และค่าแรง
5. คิดอย่าง ทำอย่าง เรื่องเกี่ยวกับการเมือง เช่น ร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาของสสร. การปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีความคิดที่เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับพรรคก้าวไกล แต่การกระทำตอนนี้ค่อนข้างตรงข้ามกับสิ่งที่เคยคิดไว้
นายพิธา กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเลตที่เปลี่ยนไปมาหลายครั้งว่า นโยบายครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ในรูป พ.ร.บ.หรือรูปแบบเงินกู้ กว่า 5 แสนล้านบาท พรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับความจำเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การใช้งบประมาณที่สูงถึง 5 แสนล้านบาทไม่ควรกระทบพื้นที่ทางการคลังในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง โดยนโยบายดิจิทัลวอลเลตมีการเปลี่ยนแปลงถึง 4 ครั้ง สอดคล้องกับการคิดไป ทำไป
"ก่อนเลือกตั้ง เวลาขึ้นเวทีดีเบต จะได้รับการอธิบายว่า จะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ต้องมีการกู้ พอเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งบอกว่า จะใช้งบประมาณนอกจากธนาคารออมสิน หลังจากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าผิด พ.ร.บ.ออมสิน เลยเปลี่ยนที่มาของเงินต้องใช้จากงบผูกพัน ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ผิด พ.ร.บ.เงินตราฯ ทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้เงินงบประมาณ และ พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ปรากฏว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ออกมา ไม่มีโครงการเงินดิจิทัล ทำให้ต้องเปลี่ยนอีกครั้งคือการใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 100%” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า นอกจากที่มาของงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีที่จะใช้สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเลต เรื่องของจำนวนผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ และวันที่ประชาชนจะได้ใช้เงินดิจิทัลวอลเลต
"พอเห็นได้ว่าเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณสูง มาจากเงินกู้ ที่เราและลูกหลานเราต้องมาใช้ในอนาคต รวมถึงการเบียดบังส่วนของงบประมาณที่สามารถใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ในระยะยาวต่อได้ แต่รัฐบาลไม่ได้คิดอย่างตกผลึกและเปลี่ยนไปมา ทำให้เกิดความสับสนในสังคมและกลุ่มตลาดทุน สิ่งที่เราคาดหวังจากรัฐบาล คือ แผน 2 ในกรณีที่ดิจิทัลวอลเลตไม่สามารถทำได้ หรือติดปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมคิดว่ารัฐบาลในปีหน้าควรจะมีความชัดเจนและไม่มีการปรับเปลี่ยนอีกแล้ว แต่ถ้าไม่ได้เป็นดิจิทัลวอลเลตก็ควรจะต้องเกาให้ถูกที่คัน และเลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งภาคการลงทุนในอุตสาหกรรม หรือการลงทุนของรัฐบาล ซึ่ง GDP ไม่ได้จำเป็นจะต้องกระตุ้นจากการบริโภคอย่างเดียว" นายพิธากล่าว