ป.ป.ช.เผยแพร่มติเสียงเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหา 'ชัยเกษม นิติสิริ' อดีตคกก.ข้าราชการตำรวจ-พวกรวม 24 ราย ช่วยเหลือ 'พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ-พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว-พล.ต.ต. เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์' ให้กลับเข้ารับราชการ โดยมิชอบ หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ไม่มีมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ตีตกข้อกล่าวหา นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กับพวก รวม 24 ราย มีมติว่าข้าราชการตำรวจ จำนวน 3 นาย ไม่มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อันเป็นความเห็นแย้งกับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 เพื่อช่วยเหลือข้าราชการตำรวจทั้ง 3 นาย ให้กลับเข้ารับราชการ โดยมิชอบ
หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุว่า คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาคือ คณะกรรมการข้าราชการตํารวจเสียงข้างมาก ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 , พลตํารวจเอก นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 , พลตํารวจเอก บุญเพ็ญ บําเพ็ญบุญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3, ศาสตราจารย์ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 , พลตํารวจเอก พิชิต ควรเดชะคุปต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5, นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6, พลตํารวจโท เหมราช ธารีไทย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 , นายสีมา สีมานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 , พลตํารวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 พลตํารวจเอก ปานศิริ ประภาวัต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10, พลตํารวจเอก จุมพล มั่นหมาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11, พลตํารวจเอก จงรัก จุฑานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 , พลตํารวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13
อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตํารวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ ประกอบด้วย พลตํารวจเอก พิชิต ควรเดชะคุปต์ (ประธาน อ.ก.ตร. อุทธรณ์) (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5) , พลตํารวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 , พลตํารวจโท บุญเรือง ผลพาณิชย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 , พลตํารวจโท ชุมพล วงศ์กําแหง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16, พลตํารวจตรี วิศิษฐ์ สาระศาลิน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17, พลตํารวจตรี สมชาย สุทธิไวยกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 , พลตํารวจตรี วัฒนะ มโนยศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19, พลตํารวจตรี มณเฑียร ประทีปะวณิช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 20, นายไพศาล เผือกพูลผล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 21 , พลตํารวจโท อาจิณ โชติวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22, พันตํารวจเอก สุพัฒน์ รัตนวราหะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 23, พันตํารวจเอก เสถียร ดูวิบูลย์ศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 24
พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป คือ ร่วมกันมีมติว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว และพล.ต.ต. เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ไม่มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อันเป็นความเห็นแย้งกับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และขัดต่อคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 เพื่อช่วยเหลือข้าราชการตํารวจทั้ง 3 นาย ดังกล่าว ให้กลับเข้ารับราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 13 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจเสียงข้างมาก) ร่วมกันพิจารณาอุทธรณ์ของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว และพล.ต.ต. เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ปลดข้าราชการตำรวจทั้งสามนายดังกล่าว ออกจากราชการกรณีกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานกระทําหรือละเว้นการกระทําใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามนัยมาตรา 79 (2) (6) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเสนอตามรายงานของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และ 14- 24 ( อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตํารวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์) ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีความเห็นพ้องต้องกันว่า อ.ก.ตร. อุทธรณ์ มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ ทั้งสามนายได้ทั้งกระบวนการและข้อเท็จจริง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 105 และกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. 2547 และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นความผิดวินัย หรือพยานยังฟังไม่ได้ว่าข้าราชการทั้งสามกระทำความผิดวินัย ก็ให้มีมติยกโทษตามข้อ 18 (2) (ง) แห่งกฎ ก.ตร. ฉบับดังกล่าว
จากความเห็นดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนมีความเห็นต่อไปว่า การไต่สวนและชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีของข้าราชการตำรวจทั้งสามเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือเกินกว่ากรอบอำนาจ ตามความผิด 4 ฐาน คือ กรณีร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (3) บัญญัติให้อำนาจไว้
ส่วนข้อที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเห็นว่าใช้ไม่ได้กับกรณีตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งออกภายหลังคำวินิจฉัยดังกล่าว และคำวินิจฉัยเฉพาะมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องความผิด 4 ฐาน ดังกล่าวเท่านั้น และผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์ทั้งสามกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามที่ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจมีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล อาศัยอำนาจตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. 2547 ข้อ 18 (2) (ง) และข้อ 21 จึงมีมติว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ทั้งสามไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้สั่งยกโทษแก่ผู้อุทธรณ์ทั้งสามดังกล่าว
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่าจากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป