‘แบงก์ชาติ’ เปิดรับฟังความเห็น ร่างประกาศฯ เปิดทาง ‘บริษัทบริหารสินทรัพย์-สถาบันการเงินเฉพาะกิจ’ ตั้งกิจการร่วมทุนฯ บริหารหนี้เสีย กำหนดรับซื้อ-รับโอน 'สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ' มูลค่าไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. และระบบกฎหมายกลาง โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.2566
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฯฉบับดังกล่าว กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) สามารถร่วมลงทุนกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ตามรูปแบบและเงื่อนไขดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ โดยต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2567
ทั้งนี้ ให้กิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มีอายุการดำเนินงานไม่เกินกว่า 15 ปี นับแต่วันที่เริ่มดำเนินงานตามประกาศฯ โดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ บบส. และ SFIs ที่ร่วมลงทุนดำเนินการชำระบัญชีและปิดกิจการร่วมทุนหรือเปลี่ยนแปลงการถือหรือมีหุ้นในกิจการร่วมทุนฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่บังคับใช้อยู่ ณ วันที่ครบกำหนดระยะเวลาข้างต้น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจาก ธปท. เป็นรายกรณี
ร่างประกาศฯ ยังระบุว่า ในการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ให้กิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รับซื้อหรือรับโอนเฉพาะสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ดังนี้
1.ลูกหนี้ซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามทุกข้อ ได้แก่ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ,เป็นสินเชื่อหรือธุรกรรมคล้ายสินเชื่อของ SFIs ,มีวงเงินรวมกับผู้ให้สินเชื่อเดิม ณ วันที่รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไม่เกิน 20 ล้านบาท และไม่เป็นลูกหนี้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีพฤติกรรมที่แสดงถึงการกระทำอันส่อไปในทางไม่สุจริต
2.อสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ การประกัน การให้สินเชื่อ หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่รับจำนองไว้จากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่มีลักษณะตามข้อ 1
นอกจากนี้ ให้กิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต้องมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่รับซื้อหรือรับโอนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เช่น ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับ และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และประมาณการกระแสเงินสดของลูกหนี้ในอนาคต เว้นแต่เข้าลักษณะเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีทางจะได้รับชำระหนี้โดยมีการดำเนินการตามสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว
“ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ค้างอยู่ในระบบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นเวลานาน โดยเฉพาะประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันและมักได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้
ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การตกลงราคาขายหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ในภาวะปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ซึ่งการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ล่าช้าอาจส่งผลให้ปัญหาหนี้ของลูกหนี้เรื้อรังและกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระยะต่อไป
เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีเครื่องมือเพิ่มเติม ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเพิ่มความคล่องตัวให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีทรัพยากรเพียงพอในการดำเนินการตามพันธกิจที่กฎหมายจัดตั้งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจกำหนดไว้ และทำให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถจัดสรรทรัพยากรที่อาจมีเหลืออยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรับความช่วยเหลือต่อเนื่องและไม่สร้างภาระต่อลูกหนี้ที่เกินควร
ธปท.จึงเห็นควรส่งเสริมให้บริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถร่วมลงทุน ในกิจการร่วมทุนที่ด าเนินกิจการเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การก ากับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการด าเนิน กิจการบริหารสินทรัพย์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์” ร่างประกาศฯ ระบุ