DSI แถลงผลดำเนินคดีหมูเถื่อน เผยมีการส่ง ป.ป.ช.แจ้งข้อหา จนท.รัฐแล้ว 2 คน จ่อเรียกอีก 4 รายโยงโอนเงิน 259 ล้านให้ บ.ชิปปิ้งซื้อหมูจากต่างประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับคดีการนำเข้าซากสุกรเถื่อน
โดยกรณีแถลงข่าวนั้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ภายใต้คดีพิเศษที่ 103/2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีการตรวจยึดสิ่งของมาเป็นพยานหลักฐาน รวมทั้งพบการกระทำผิดซึ่งหน้า 1 จุด เป็นบริษัทประกอบธุรกิจห้องเย็น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตรวจพบซากสุกร (หมูสามชั้น) จำนวน 7 ตัน ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการตรวจยึดซากสุกรดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสามควายเผือกดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ประกาศควบคุมโรคอหิวาตกโรคในสุกร (ห้ามไม่ให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ในเขตห้ามเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต) อันเป็นการป้องกันเหตุไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องบริโภคหมูที่ไม่ถูกสุขลักษณะด้วย
โดยพ.ต.ท.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าในการดำเนินการโดยระบุว่าได้แยกดำเนินการเป็น 2 ช่วง รวม 10 คดี คือ
ช่วงที่ 1 คดีพิเศษที่ 59/2566 เป็นคดีเริ่มต้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบสวนสอบสวนกรณีมีกลุ่มนายทุน บริษัทดำเนินพิธีการศุลกากร หรือ ชิปปิ้ง ร่วมกันลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ด้วยการสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องด้วย
กรณีตรวจพบตู้สินค้าเป็นสุกรแช่แข็งตกค้างในท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้ หนักประมาณ 4.5 ล้านกิโลกรัม ทางการสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 2 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทั้งนี้ได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 แล้ว อันเป็นการดำเนินการเฉพาะส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ช่วงที่ 2 เป็นการดำเนินคดีกับเอกชนที่เป็นบริษัทที่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วยคดีพิเศษที่ 101-109/2566 ซึ่งมีการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องทุกคดี พบหลักฐานน่าเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรอีกจำนวน 2,385 ตู้ ปริมาณ 59,625 ตัน
ขณะที่พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษดีเอสไอกล่าวถึงความผิดปกติของการตรวจค้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ว่านอกเหนือจากการไม่มีใบอนุญาตแล้ว ยังพบว่าห้องเย็นแห่งที่สองที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ในช่วงกลางปี 2565 พบว่ามีหมูหลายประเภทคละกันไปเกือบ 61 ตัน และก็มีซากหมูที่หายไปประมาณหลายสิบตัน ซึ่งขณะนี้ปศุสัตว์นครปฐมกำลังเร่งตรวจสอบอยู่ อีกทั้งยังมีกรณีใบเคลื่อนย้ายมีการถ่ายเอกสารเอาไว้ถึงสามชุด ซึ่งผิดปกติมาก ตรงนี้ทางปศุสัตว์นครปฐมก็กำลังตรวจสอบเช่นกัน
เมื่อถามถึงเส้นทางการเงินว่าทางเจ้าของห้องเย็นได้มีการโอนเงินให้ นายวิรัช ภูริฉัตร และนายธนกฤต ภูริฉัตร พ.ต.ต.ณฐพลกล่าวว่าจากสายข่าวบอกว่าเจ้าของห้องเย็นนั้นเป็นลูกชายของนายวิรัช แต่ตรงนี้คงต้องตรวจสอบก่อน แต่ที่แน่ชัดก็คือว่าเขาเคยทำงานที่บริษัทเดียวกัน ซึ่งหลังจากนี้คงต้องออกหมายเรียกบุคคลจำนวน 4 คน ที่เกี่ยวกับห้องเย็นเพราะพบว่าทั้งสี่คนนั้นมีการโอนเงินมาที่บริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัดของนายวิรัชและนายธนกฤตกว่า 259 ล้านบาท แต่ไม่มีนิติกรรมแต่อย่างใด
พ.ต.ต.ณัฐพลกล่าวต่อไปว่าอีกเรื่องที่ต้องมีการตรวจสอบ ก็คือว่ามีคนอีกกลุ่มโอนเงินเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 10 ล้านจนถึงร้อยกว่าล้านบาทเข้าบัญชีที่นครปฐมก่อนแล้วโอนเข้าบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด โอนเข้าไปยังสองพ่อลูก แล้วจากสองพ่อลูกก็โอนไปที่บริษัทบริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด แล้วหลังจากนี้จึงจะไปซื้อหมูที่ต่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษดีเอสไอกล่าวต่อไปว่าตอนนี้ดีเอสไอได้มีการประสานข้อมูลกับ ปปง.(สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ให้ติดตามเส้นทางการเงินในสองสำนวน เพื่อดูว่ามีกลุ่มใดเกี่ยวข้องบ้าง
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการขยายผลตรวจค้นและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุน ข้าราชการการเมือง และอดีตข้าราชการ การใช้มาตรการคุ้มครองพยานแก่พยานรายสำคัญ การดำเนินการโดยใช้กฎหมายฟอกเงินดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด
สำหรับการยึดทรัพย์ในคดีนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 53 ล้านบาท และในสัปดาห์หน้าจะมีการยึดทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนการดำเนินคดีนั้นจะมีทั้งในส่วนของตู้คอนเทรนเนอร์เย็นที่อยู่ในความดูแลของกรมศุลกากร และห้องเย็นของเอกชนที่อยู่ในความดูแลของกรมปศุสัตว์
“ดีเอสไอจะถอดบทเรียนเรื่องนี้เพื่อให้รู้ว่ามีช่องโหว่ตรงไหนที่ทำให้เกิดการทุจริตแล้วทำเป็นรายงานเสนอต่อ รมว.ยุติธรรม” พ.ต.ต.ณฐพล กล่าว
สำหรับกรณีของแม็คโครนั้นอยู่ระหว่างการเรียกเอกสารหลักฐานมาตรวจสอบจำนวน 118 รายการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนจะมีความผิดหรือไม่นั้น พนักงานสอบสวนจะตรวจสอบหลักฐานถุกต้องหรือไม่ และมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร