‘กรมทางหลวง’ จ่อเสนอ ครม.เพิ่มงบก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - โคราชอีก 14 สัญญา วงเงินรวม 1,784 ล้านบาท หลังเมื่อเดือน ม.ค. 66 ครม.ยุคบิ๊กตู่ควักจ่าย 4,900 ล้านบาทไปแล้ว คาดหากได้รับอนุมัติงานก่อสร้างเบิกจ่ายเดินหน้าเสร็จสมบูรณ์ปี 2568
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 ธันวาคม 2566 แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ปัญหาโครงการมอเตอร์เวย์ช่วงบางปะอิน - นครราชสีมา จำนวน 16 สัญญา วงเงินรวม 6,755 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 เห็นชอบเพิ่มวงเงินจำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970.71 ล้านบาท
ล่าสุด ในจำนวน 16 สัญญาที่ ครม.อนุมัตินั้น ยังมีเนื้องานก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้วจำนวน 14 สัญญา คิดเป็นวงเงินประมาณ 1,784.94 ล้านบาท ซึ่งเป็นเนื้องานที่ว่าผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างตามแบบที่หัวหน้าส่วนราชการได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยตามขั้นตอนจะต้องรอการอนุมัติเงินและแก้ไขสัญญา เพื่อตรวจรับงานให้เป็นไปตามสัญญา และเริ่มขั้นตอนการเบิกจ่ายต่อไป ซึ่งกรมได้เสนอประเด็นนี้ไปที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงคมนาคมทำเรื่องถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) คาดว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือน ธ.ค. 2566 นี้
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง กล่าวอีกว่า หากได้รับการอนุมัติ คาดว่างานก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครราชสีมา จะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งคาดว่าในปีดังกล่าวจะสามารถเปิดทดลองวิ่งจริงและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้
สำหรับโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร มีวงเงินลงทุน 76,580 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 ครม.เห็นชอบโครงการและกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง 69,950 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,630 ล้านบาท โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 40 ตอน (สัญญา) ซึ่งประมูลและลงนามสัญญาผู้รับจ้าง วงเงินประมาณ 59,000 ล้านบาททำให้ยังเหลือกรอบวงเงินอีกราว 10,000 ล้านบาท โดยการปรับปรุงแบบก่อสร้างทำให้มีการปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างไปแล้ว 4,970 ล้านบาท รวมกับที่เหลืออีก 1,785 ล้านบาท รวมเป็น 6,755 ล้านบาท ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ ครม.อนุมัติ
ส่วนสาเหตุที่ต้องปรับแบบมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครราชสีมา ในเอกสารที่นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ระบุไว้ 4 ข้อ ได้แก่ 1.สภาพพื้นที่ก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากแบบที่วางไว้ 2.ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันในพื้นที่ 3. ปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมกับระบบสาธารณูปโภคที่พบในพื้นที่ก่อสร้าง และ 4. ปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามที่มีประชาชนร้องเรียนและให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนในแต่ละพื้นที่
ที่มาภาพ: กรมทางหลวง (ทล.)