เผยมติ ป.ป.ช.ยุติไต่สวนข้อกล่าวหา 'วัฒนา อัศวเหม' อดีตรมช.มหาดไทย - พวก คดีใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ข่มขืนใจเจ้าหน้าที่อบต.คลองด่าน จัดประชุมสภาฯ อนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย จัดทำหลักฐานการประชุมเท็จ เพื่อใช้ประกอบการเบิกเงินที่มีส่วนได้เสีย เหตุยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แถมเจ้าตัวหลบหนีหมายจับคดีขาดอายุความแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวก คือ นายณรงค์ ยอดศิรจินดา ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน นายชะเอม ปู่มิ้ม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน และนายบุญลือ โพธิ์อรุณ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ข่มขืนใจ หรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จัดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน เพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย และได้มีการจัดทำหลักฐานการประชุมสภาอันเป็นเท็จ เพื่อนำหลักฐานการพิจารณาอนุญาตดังกล่าวไปใช้ประกอบการเบิกเงินค่าที่ดินที่ตนเองมีส่วนได้เสียและได้รับประโยชน์จากเงินค่าที่ดินดังกล่าว
หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการเร่งรัดเป็นการข่มขืนใจหรือไม่ แม้พยานหลักฐานจึงยังเป็นที่สงสัยอยู่ ขณะที่นายวัฒนา หลบหนีหมายจับปัจจุบันคดีขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงมีมติให้ยุติการไต่สวน
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า นายวัฒนา อัศวเหม มีพฤติการณ์โทรศัพท์ไปเร่งรัดและสั่งการให้ นายณรงค์ ยอดศิรจินดา ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จัดทำเอกสารการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน เพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย เพื่อนำไปใช้ประกอบการเบิกเงินค่าที่ดินดังกล่าว จากกรมควบคุมมลพิษ เป็นเหตุให้ นายณรงค์ ยอดศิรจินดา ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน นายชะเอม ปู่มิ้ม และนายบุญลือ โพธิ์อรุณ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ร่วมกันจัดทำเอกสารรายงานการประชุมวิสามัญประจำปี 2541 สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1/2541 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 เป็นเท็จว่าในวันประชุมดังกล่าวมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน เข้าร่วมประชุม 39 คน ไม่มีสมาชิกขาดประชุมและที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ใช้พื้นที่ตำบลคลองด่าน เพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียด้วยคะแนนเสียง 37 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ทั้งที่ ในวันประชุมดังกล่าวไม่มีการนำวาระเรื่องการขอใช้พื้นที่ตำบลคลองด่าน เพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเข้าพิจารณาในที่ประชุม อีกทั้งในวันประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึง 39 คน ตามที่ปรากฏในรายงานการประชุม
ต่อมาได้มีการส่งรายงานการประชุมดังกล่าวให้กับกรมควบคุมมลพิษเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเบิกจ่ายเงินค่าที่ดินให้แก่ผู้รับจ้าง โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 กรมควบคุมมลพิษ ได้จ่ายเงินค่าที่ดินงวดแรกให้แก่ บริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด จำนวน 750,000,000 บาท ซึ่งบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ได้จ่ายเงินค่าที่ดินตามมูลค่าที่นายวัฒนา อัศวเหม ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ให้แก่ บริษัท เอ็ม พี โฮลดิ้ง (กรุ๊ป) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่นายวัฒนา อัศวเหม เป็นเจ้าของโดยพฤตินัย จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 จำนวน 80,000,000 บาท และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2541 จำนวน 20,000,000 บาทรวมผลประโยชน์ที่นายวัฒนา อัศวเหม ได้รับจากการกระทำดังกล่าว 100,000,000 บาท
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนวันที่ 19 มกราคม 2541 นายณรงค์ กลมกล่อม ประธานสุขาภิบาลตำบลคลองด่าน (ปี พ.ศ. 2542 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลคลองด่าน) ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายณรงค์ ยอดศิรจินดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 อ้างว่านายณรงค์ ยอดศิรจินดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน (คือตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) ได้เล่าให้ตนฟังว่า นายวัฒนา อัศวเหม ได้โทรศัพท์มาขอให้นายณรงค์ ยอดศิรจินดา รีบเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย โดยต่อมาภายหลังนายณรงค์ ยอดศิรจินดาได้รองเท้ากอล์ฟเป็นค่าดำเนินการ ซึ่งนายณรงค์ ยอดศิรจินดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้ปฏิเสธว่ากรณีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย นายวัฒนา อัศวเหม ไม่เคยโทรศัพท์มาหาตน หรือมีบุคคลใกล้ชิดนายวัฒนา อัศวเหม มาติดต่อตนเองแต่อย่างใด และถ้อยคำของนายณรงค์ กลมกล่อม ไม่เป็นความจริง ตนไม่เคยเล่าเรื่องดังกล่าวหรือพูดคุยถึงผลประโยชน์ตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย กับนายณรงค์ กลมกล่อม แต่อย่างใด
จากเอกสารหลักฐานรายงานการประชุม ปรากฏว่ามีลายมือชื่อผู้เข้าประชุมและหลักฐานการรับเบี้ยประชุม ของผู้เข้าประชุม จำนวน 29 ราย นอกจากนี้ในการประชุมสมัยวิสามัญประจำปี 2541 สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ได้มีมติรับรองรายงานการประชุมสมัยวิสามัญประจำปี 2541 สมัยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 ซึ่งที่ประชุมรับรองโดยไม่แก้ไขถึงแม้ว่าจะมีสมาชิกสภาบางส่วน จำนวน 7 ราย ให้ถ้อยคำรับว่ามีการประชุมจริง แต่เป็นการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เนื่องจากมีสมาชิกสภาผู้หนึ่งเสียชีวิตลง มิใช่เป็นการประชุมพิจารณายินยอมให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด และมีสมาชิกสภาบางส่วน จำนวน 4 ราย ให้ถ้อยคำปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา
คณกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ จำนวน 8 เสียง ว่าจากการไต่สวนข้อเท็จจริง มีประเด็นต้องพิจารณาว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ได้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ประจำปี 2541 สมัยที่ 1/2541 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 พิจารณาเรื่องการขอใช้พื้นที่ตำบลคลองด่านก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจริงหรือไม่
จากการไต่สวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน และกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จำนวน 10 ราย ยืนยันว่า มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่ออนุญาตให้ใช้พื้นที่ตำบลคลองด่านก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและใช้งานในการบำบัดน้ำเสียจริง
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จำนวน 4 ราย ยืนยันว่า มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญจริง แต่ไม่ได้บรรจุวาระการพิจารณาเพื่ออนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไว้
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จำนวน 7 ราย ยืนยันว่า มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญจริง แต่เป็นการประชุมเร่งด่วนกรณีสมาชิกสภารายหนึ่งเสียชีวิต
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จำนวน 4 ราย ให้การว่าไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาสมัยวิสามัญดังกล่าว
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 2 ราย คือ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่านและหัวหน้าส่วนโยธา ยืนยันว่ามีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่ออนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจริง
จึงฟังได้ว่ามีพยาน จำนวน 12 ราย ยืนยันว่ามีการประชุมพิจารณาเรื่องอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจริง พยานจำนวน 11 ราย ยืนยันว่ามีการประชุมจริง แต่มิได้พิจารณาเรื่องการการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย และพยานจำนวน 4 ราย ไม่ได้เข้าประชุม และมิได้ยืนยันว่ามีการประชุมจริงหรือไม่
นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 15 มาราคม 2541 ก่อนวันประชุมสภาสมันวิสามัญดังกล่าว ปรากฏเอกสารหนังสือราชการของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมมลพิษ, จังหวัดสมุทรปราการ และอำเภอบางบ่อ ตามลำดับ สอดคล้องกันเกี่ยวกับการขอให้องค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ออกหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณตำบลคลองด่าน ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจะมีเหตุผลใดที่จะทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่านปฏิเสธไม่ยอมให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวแต่ประการใด จากพยานหลักฐานจึงสอดคล้องกันทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคล น่าเชื่อว่าองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ได้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่ออนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจริง ดังนั้น ในประเด็นนี้จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ร่วมกันจัดทำหลักฐานการประชุมสภาฯ อันเป็นเท็จตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้โทรศัพท์ไปเร่งรัดและสั่งการให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย เพื่อนำไปประกอบการเบิกเงินค่าที่ดิน ที่ได้รวบรวมซื้อและถือกรรมสิทธิ์อยู่ ในนามบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด หรือไม่
ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.2/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 หน้าที่ 84 เพียงว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 โทรศัพท์มาเร่งรัดให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ เท่านั้น แต่จะฟังว่าการเร่งรัดดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จำยอมต้องปฏิบัติตามอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 หรือไม่ นั้น
จากการไต่สวนปรากฏเพียงถ้อยคำของพยานจำนวน 1 ราย ที่อ้างว่าได้รับฟังจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 โทรศัพท์มาเร่งรัด แต่เมื่อไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กลับให้การปฏิเสธว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่เคยโทรศัพท์มาพูดคุยในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด รวมทั้งปฏิเสธว่าคำกล่าวอ้างของพยานรายดังกล่าว ไม่เป็นความจริง
ดังนั้น ในประเด็นนี้พยานหลักฐานจึงยังเป็นที่สงสัยอยู่ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการเร่งรัดเป็นการข่มขืนใจหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อน แต่ระหว่างการไต่สวน ไม่อาจติดตามตัวผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้หลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ อม.2/2551
จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเหตุให้คดีขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ประชุมจึงมีมติให้ยุติการไต่สวน