กทม.ยันทำต่อสายสีเขียวต่อขยายจากบางหว้า - ตลิ่งชัน 7.5 กม. วงเงิน 7,000 ล้านบาท เล็งนัด ‘ทางหลวงชนบท’ ถกขอใช้ที่ก่อสร้าง-ก่อสร้างให้คลอไปกับแผนพัฒนาถ.ราชพฤกษ์ เตรียมของบปี 68 ศึกษารูปแบบลงทุนแบบ PPP
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2566 แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า กทม.กำลังผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันกำลังหารือร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อขอพื้นที่ถนนราชพฤกษ์บางส่วนมาใช้ในการก่อสร้าาง และทาง กทม.จะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนต่อขยายถนนราชพฤกษ์หรือการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต เช่น สะพานกลับรถ สะพานข้ามแยก เป็นต้น และอีกด้านหนึ่ง กทม.จะของบประมาณในปี 2568 เพื่อศึกษารูปแบบการลงทุนในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ด้วย ส่วนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
ส่วนกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. จะโอนโครงการนี้ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดูแล แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวว่า น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากโครงการนี้จะต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่ กทม. เป็นผู้ก่อสร้างเองคือ ช่วงจากสะพานตากสิน - บางหว้า ซึ่ง กทม. มีความคิดจะทำเองมาโดยตลอด ประกอบกับวงเงินของโครงการไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบรถไฟฟ้าสายอื่น คาดว่า กทม.น่าจะพอรับภาระได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามผลการศึกษาเมื่อปี 2558 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้า จากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ ผ่านทางแยกตัดถนนบางแวก (ซอยจรัญฯ 13) แยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4แล้วยกข้ามทางแยกถนนบรมราชชนนี ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกที่อยู่ในแนวรถไฟสายใต้ มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี)
ที่มาภาพปก: Facebook กรุงเทพต้องมาก่อน KTMK