รักษาการอธิบดี DSI แจงคืบหน้าคดีหมูเถื่อน แจ้งข้อหา 2 บริษัทตามความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร-พ.ร.บ.โรคระบาดเบื้องต้นผู้ต้องหาปฏิเสธ-เตรียมประสาน ปปง.ยึดทรัพย์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับมอบตัวผู้ต้อง คดีนำเข้าซากสุกรมิชอบ หรือ คดีหมูตู้เถื่อน ที่ สำนักงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมคณะ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คดีพิเศษที่ 109/2566 ประกอบด้วย พันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม นายเมธีวัฒน์ คำเสือ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์ ทับสาร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ และ ได้ร่วมกันแจ้งข้อหา นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ ผู้ต้องหา เชื้อชาติ ไทย สัญชาติ ไทย อายุ 48 ปี เลขที่ 30 ซอยนวมินทร์ 86 แยก 2 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร ทราบว่า ผู้ต้องหา ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน พยายามนำของที่ผ่าน หรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น และร่วมกันนำซากสุกรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 244 วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ประกอบมาตรา 8 และมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ ความผิดฐานนำซากสุกรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา31 ประกอบมาตรา 68 แห่ง พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ก่อนเริ่มแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้แจ้งให้ผู้ต้องหา ทราบว่า 1 คดีนี้มีอัตราโทษจำคุก ผู้ต้องหามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและต้องการ รัฐจะจัดหาให้ 2 ผู้ต้องหาที่ มีสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ 2คำให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ 3 ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบปากคำตนได้ 4 มีสิทธิแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ผู้ต้องหา ทราบและเข้าใจสิทธิที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษแจ้งให้ทราบดีแล้ว
โดย ผู้ต้องหา แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่า มีทนายความชื่อนายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์ เข้าฟังการแจ้งข้อกล่าวหา และการสอบปากคำในครั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิด (พฤติการณ์แห่งการกระทำผิด) ให้ผู้ต้องหาทราบ คือ กรมศุลกากร ผู้กล่าวหาที่ 1 และ กรมปศุสัตว์ ผู้กล่าวหาที่ 2 ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ต้องหา กับพวก โดยมีพฤติการณ์แห่งคดี คือ เมื่อวันที่ 19กันยายน 2565 ผู้ต้องหา ได้ร่วมกับบริษัท สมายส์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 สั่งสินค้าจำพวก FROZEN FOOD PRODUCTS เข้ามาใน ราชอาณาจักร จำนวนสองตู้ และร่วมกับบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 จำนวน 39 ตู้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ต่อมาด่านศุลกากรแหลมฉบัง ตรวจสอบพบว่ามีตู้สินค้าของบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 ตกค้างจำนวน 2 ตู้ และบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 จำนวน 39 ตู้ ทั้งหมดสินค้าภายในตู้ดังกล่าวเป็นซากสุกร ซึ่งเป็นสินค้า ต้องจำกัด จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์เสียก่อน
และจากการตรวจสอบในระบบของหน่วยงานศุลกากร และกรมปศุสัตว์แล้ว พบว่า สินค้าจำพวกซากสุกร ทั้ง 41 ตู้ ไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าแต่ประการใด และปล่อยเป็น ของตกค้างและตู้สินค้าได้ขนส่งมากับเรือ ONE HANGZHOU BAY ตรงกับบัญชี ของกลางและถึงท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 19 กันยายน 2565 จากการตรวจสอบใบตราส่งสินค้าทั้ง 2 ตู้แล้ว พบว่า บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 และ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 จำนวน 39 ตู้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
ต่อมาด่านศุลกากรแหลมฉบัง ตรวจสอบพบว่ามีตู้สินค้าของบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้สั่งนำเข้าตู้สินค้าดังกล่าว โดยได้ขนถ่ายจากเรือที่บรรทุกเข้ามาเก็บรักษาไว้ภายใน เขตท่าเรือแหลมฉบังเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือได้ว่า สินค้าได้เข้ามาอยู่ในอารักขาของศุลกากรตามมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติศลกากร พ.ศ.2560 แล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ต้องหาที่ 1 และ2 (ในฐานะผู้สั่งนำเข้า) จะต้องยื่นขอใบขนสินค้าทั้ง 41 ตู้ เพื่อดำเนินการทางพิธีการศุลกากร แต่ผู้ต้องหาทั้งสอง มิได้ดำเนินการแต่ว่าผู้ต้องหาทั้งสองได้พยายามนำเข้าตู้สินค้าโดยผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรแล้ว แต่การกระทำนั้นยังไม่บรรลุผลเหตุเกิดที่ ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่17 กันยายน 2565 เวลากลางวันและกลางคืน นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ ผู้ต้องหา ขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพร้อมเอกสาร อีก 15 วัน และพร้อมจะแฉวิธีการเรียกหาพลประโยชน์ของขบวนนำเข้าหมูจากนอกราชอณาจักรในครั้งนี้
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังจากที่ ได้เข้าร่วมฟังการแจ้งข้อกล่าวหาบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง และ บริษัทสมาย ท็อปเค ซึ่งทั้ง 2 บริษัท นำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง จำนวนทั้งสิ้น 41 ตู้ มูลค่ารวมอากรประมาณ 117 ล้านบาท ในความผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากรและความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและขอยื่นคำให้การแก้ข้อกล่าวหาในภายหลัง
“ผมได้กำชับให้มีการดำเนินคดีฟอกเงิน โดยร่วมกับ สำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินทั้งมาตรการทางอาญา และมาตรการทางแพ่งโดยจะตรวจสอบและยึดทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การปราบปรามครั้งนี้”