DSI-สตช.จับมือ ปปง.ล่าตัวการใหญ่ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน พบเส้นทางการเงินโอนซื้อหลายพันล้าน ด้านนายกฯสั่งตั้ง คกก.เร่งติดตาม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ คณะพนักงานสอบสวนคดีลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรโดยมิชอบ ประชุมร่วมกับ พลตำรวจโทสำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตึก 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษคดีนำเข้าเนื้อสุกรมิชอบ หรือหมูตู้เถื่อนได้ประชุมหารือถึงการคลีคลายคดีโดยตัวแทนของคณะกรรมการ ปปง.และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีข้อมูลที่สอดรับกันในประเด็นของการโอนเงินไปซื้อหมูจากต่างประเทศ ซึ่งมีวงเงินสูงหลายพันล้านบาท
การประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษและ สำนักงาน ปปง.มีเป้าหมายที่จะสืบสวนสอบสวน ให้ถึงตัวการใหญ่ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และ หากพบว่าตัวการใหญ่ เป็นข้าราชการระดับสูง หรือเป็นนักการเมือง หรือเป็นข้าราชการการเมือง ก็อาจจะต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปง.) หากตัวการใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทมหาชน หรือกลุ่มบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด กลุ่มบุคคล หรือ บุคคล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นผู้แจ้งข้อกล่าววหา โดยการประสาน การปฎิบัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้
คดีนี้เป็นความผิดมูลฐานฟอกเงิน ปปง.ก็จะเป็นหน่วยงานนำในการยึดอายัดทรัพย์ โดยมีกำลังจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติสนับสนุน
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่รับผิดชอบคดีนำเข้าหมูโดยมิชอบ เป็นคณะพนักงานสอบสวนชุดเดียวกับที่ทำคดีการนำเข้ารถหรู โดยการสำแดงเท็จมาก่อน จึงสามารถประสานข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งนโยบายที่ได้มอบให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชุดนี้คือ พยายามรวบรวมพยานหลักฐาน ให้สามารถดำเนินคดีกับตัวใหญ่ ที่มักจะอยู่เบื้องหลัง โดยไม่ต้องหวั่นเกรงอิทธิพลหรือการถูกแทรกแซงจากส่วนใด
“ผมได้กำชับและให้นโยบายแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชุดคดีนี้ว่า ขอให้ยึดมั่นตามพยานหลักฐาน สืบสวนสอบสวนให้ถึงตัวการใหญ่ และบังคับใช้กฎหมายให้ครบ ทั้งมาตรการทางอาญาและยึดทรัพย์ทางแพ่ง” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 287/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินคดี เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบและหลีกเสี่ยงการนำเข้าสินค้าประเภท สุกรมีชีวิต เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้มี "คณะกรรมการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ที่ผิดกฎหมาย"
โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ (นายมงคลชัย สมอุดร) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รองประธานกรรมการ (นายสมคิด เชื้อคง) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมาย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์มอบหมาย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย รองเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. มอบหมาย กรรมการ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมายอธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง มอบหมาย จำนวน 2 คน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในหนังสือสั่งการระบุ ให้คณะกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกรหรือ ชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการกับของกลางในคดีให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ และไม่ส่งผลกระทบในด้านสุขอนามัยต่อสภาพแวดล้อมและประชาชน กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า สินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ตลอดจนสินค้าประเภทเนื้อสัตว์หรือชิ้นส่วนของสัตว์อื่น ๆ เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทสุกร เนื้อสุกร หรือชิ้นส่วนสุกร ตลอดจนสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ปฏิบัติ เพื่อให้มีการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เกิดผลสัมฤทธิ์ อย่างเป็นรูปธรรม และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย ให้กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ.2547 โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี