กรมสอบสวนคดีพิเศษคาดปี 2563-2566 นำเข้าหมูเถื่อนกว่า 10,000 ตู้-แยกเลขคดีพิเศษเพิ่มเติม เตรียมพร้อมรองรับการสอบสวนขยายผล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคาร A ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บริหารคดีหมูนำเข้ามิชอบ (หมูเถื่อน) เป็นประธานในการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยมี พันตำรวจตรีณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
โดยฝ่ายเลขา ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า สำนวนการสอบสวนที่พบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 2 ราย ที่เกี่ยวข้องกับกระทำความผิดหรือน่าเชื่อว่ากระทำความผิดต่อหน้าที่ในการนำเข้าหมูมิชอบ โดย คณะพนักงานสอบสวนฯ ได้รีบสรุปส่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตาม เลขรับ ที่ 38889 เรื่องที่ ยธ 0843/405 ลงวันที่ 24 พ.ย.2566 เวลารับ 13.20 น.
นอกจากนั้นฝ่ายเลขานุการยังได้นำเสนอต่อที่ประชุมให้พิจารณาแยกเลขคดีฯอีก 9 เลข เนื่องจากสืบสวนสอบสวนพบว่า มีตู้ตู้สินค้านำเข้าหมูเถื่อนอีรวมทั้งสิ้น 2,388 ตู้ นั้น โดยมีสายเรือที่นำเข้าทั้งหมด 9 บริษัท
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ใหม่ กรณีที่บริษัทนำเข้า หมูเถื่อน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มบริษัทเดิมที่กำลังถูกดำเนินคดี 10 ราย จำนวน 161 ตู้ แต่เป็นกลุ่มบริษัทใหม่ จึงขออนุมัติออกเลขสอบสวนใหม่เพิ่ม โดยจากการสืบสวนสอบสวนเชิงเอกสารระบุว่า การนำเข้าหมูเถื่อนของกลุ่มบริษัทดังกล่าวนี้ พบข้อมูลการนำเข้า ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563-2566 น่าจะสูงถึง 10,000 ตู้ นอกจากนั้นฝ่ายเลขาฯ ยังเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแต่งตั้ง พันตำรวจโท ปฐม นาคะเสงี่ยม เป็นที่ปรึกษาคดี เนื่องจาก พันตำรวจโทปฐมฯ มีความเชี่ยวชาญในการทำคดีประเภทนี้มาก่อน โดย เดิมเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตำแหน่งสุดท้ายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้อำนวยส่วนคดีความมั่นคง สำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และโอนย้าย ไปยังสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการสภาและวิชาการ และเกษียณอายุราชการ เมื่อ 30 กันยายน 2564
ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในช่วงเช้าที่ผ่าน ได้ข้อสรุป 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 การพิจารณาแยกเลขคดีพิเศษเพิ่มเติม เป็นคดีพิเศษใหม่เพิ่มอีก 9 เลข เนื่องจากพบข้อมูลว่า มีกลุ่มบริษัทฯ อีกหลายรายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าหมูเถื่อน
เรื่องที่ 2 มีมติพิจารณารับการร้องทุกข์การกระทำความผิดการนำเข้าหมูโดยมิชอบ หรือหมูเถื่อน เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมอีก 1 คดี กรณีกลุ่มบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่กลุ่มเดิม ซึ่งน่าเชื่อว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ถึง พ.ศ.2566 มีการนำเข้าหมูโดยมิชอบ (หมูเถื่อน)สูงถึง ประมาณ 10,000 ตู้ ซึ่งเป็นการนำเข้าแบบสำแดงเท็จ ทำให้ รัฐฯสูญเสียภาษีนำเข้ามหาศาล และ ซึ่งทั้ง 2เรื่องที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์
“การประชุมของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในวันนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ดำเนินการแยกเลขคดีพิเศษเพื่อดำเนินการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม รวม 10 คดี” ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า หมูนำเข้ามิชอบ หรือ หมูเถื่อน ที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ถูกนำไปฝังกลบ แล้ว โดยใช้สถานีที่หาดสอ อ่าวทุ่งโปรง ในพื้นที่เทศบาลตำบลเขตอุดมศักดิ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยกรมปศุสัตว์ เมื่อคืนวันที่ 22 พ.ย.2566 จำนวน 10 ตู้ คืนวันที่ 23 พ.ย.2566 จำนวน 20 ตู้ คืนวันที่ 24 พ.ย.2566 จำนวน 30 ตู้ คืนวันที่ 25 พ.ย.2566 จำนวน 30 ตู้ คืนวันที่ 26 พ.ย.2566 จำนวน 30 ตู้ และสุดท้ายเมื่อคืนวันที่ 27 พ.ย. 2566 จำนวน 20 ตู้ พบข้อสังเกตว่า การฝังกลบทำลาย หมูนำเข้ามิชอบ หรือ หมูเถื่อน ที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่า มีคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบ เข้าร่วมในการฝังกลบทำลายหมูนำเข้ามิชอบ หรือ หมูเถื่อน ดังกล่าว โดยการฝังกลบทำลาย หมูนำเข้ามิชอบ หรือ หมูเถื่อนนั้น ได้รับค่าใช้จ่ายจากเจ้าของตู้ผู้ขนส่ง ที่ประสงค์ จะนำตู้ไปใช้ต่อไป