ครม.รับหลักการมาตรการส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว-ใช้จ่าย สั่ง ‘คลัง’ ศึกษารายละเอียด ‘มาตรการภาษี-โครงสร้างภาษีสรรพสามิต-เลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 พ.ย. 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ การดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และนำเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง
สำหรับมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย 5 มาตรการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้เสนอ ดังนี้
1.มาตรการภาษีและการเงิน เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อในระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น น้ำหอม เสื้อผ้า กระเป๋า เป็นต้น เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างกว้างขวาง
2.การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาที่จูงใจในการบริโภคของนักท่องเที่ยว เมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่น ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยว ตลอดจนสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น
3.การยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศมากย่ิงขึ้น คือ การยกเลิกคลังสินค้าฑัณฑ์บนประเภทที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพื้นที่แสดงและขยายของ หรือ ร้านดิวตี้ฟรี ขาเข้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของในประเทศแทนที่จะซื้อสินค้าจากในร้านดิวตี้ฟรี ขาเข้า
4.การผ่อนปรนเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันบันเทิง ร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง เป็นต้น โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ไปดำเนินการศึกษา
ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า กระทรวงการคลัง ต้องไปศึกษาว่า ถ้าต่างชาติ มาเที่ยวแล้วจะซื้อแบรนด์เนมจากประเทศไทย แต่พบว่าราคาแพงกว่า ประเทศอื่น ก็คงไม่ซื้อและอาจไปเที่ยวที่อื่นที่ราคาสินค้าแบรนด์เนมถูกกว่า ส่วนการยกเลิกดิวตี้ฟรี ขาเข้า ก็ต้องไปศึกษาผลกระทบเช่นกัน หรือจะเปลี่ยนจากการจำหน่ายสินค้าต่างประเทศ เป็นสินค้าไทย จะได้หรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับดิวตี้ฟรี ขาออกอย่างใด รวมถึงการศึกษาของกระทรวงมหาดไทย เรื่องเวลาเปิด-ปิดสถานบริการ และกระทรวงต่างประเทศเรื่องวีซ่าฟรีด้วย ซึ่งจะต้องนำรายละเอียดมาเสนอให้ครม.พิจารณรับทราบในต้นปีหน้า
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการข้างต้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษี จึงจะต้องมีการจัดทำประมาณการสูญเสียที่ชัดเจนต่อไป แต่จะสามารถเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศของคนไทย สนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว