เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหา พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. ในฐานะปธ.บอร์ดบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 นำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้เอกชนถือหุ้นสัดส่วนมากกว่า หลังผลไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเพียงพอฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล แต่มีข้อสังเกตดำเนินการไม่ผ่านความเห็นชอบ ครม. เป็นการไม่รอบคอบตามระเบียบกฎหมายโดยเคร่งครัด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เสียงเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหา พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะประธานกรรมการบริหารวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กรณีดำเนินการนำกิจการบางส่วนของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 คือ บริษัท ททบ.5 จำกัด ไปจดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยการเพิ่มทุนบริษัท ททบ.5 จำกัด แล้วให้เอกชนเข้าถือหุ้นโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
หลังพิจารณาผลการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป จำนวน 4 ข้อ คือ
1. กระทำการที่ส่อไปในทางไม่สุจริต เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ กรณีดำเนินการนำกิจการบางส่วนของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 คือ บริษัท ททบ.5 จำกัด ไปจดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยการเพิ่มทุนบริษัท ททบ.5 จำกัด แล้วให้เอกชนเข้าถือหุ้นโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
2. กรณีโอนสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท ไพรเวทมีเดีย จำกัด
3. กรณีทำสัญญาให้บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เช่าเวลาและทำการตลาดเกี่ยวกับการออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นเวลา 30 ปี
4. กรณีทำสัญญาหักกลบลบหนี้ระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กับบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า จากการไต่สวนไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่ามีการกระทำการที่ส่อไปในทางไม่สุจริต เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ กรณีดำเนินการนำกิจการบางส่วนของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 คือ บริษัท ททบ. 5 จํากัด ไปจดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยการเพิ่มทุนบริษัท ททบ. 5 จํากัด แล้วให้เอกชนเข้าถือหุ้นโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และโอนสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารทหารไทย จํากัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท ไพรเวทมีเดีย จํากัด รวมทั้งทำสัญญาให้บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จํากัด (มหาชน) เช่าเวลาและทำการตลาดเกี่ยวกับการออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นเวลา 30 ปี และทำสัญญาหักกลบลบหนี้ระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กับบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จํากัด (มหาชน)
ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 58
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียงเห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่มีข้อสังเกตไปยังกองทัพบกว่าในการจัดตั้งบริษัท ททบ.5 จำกัด ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจ กองทัพบกจะต้องใช้เงินลงทุน หรือทรัพยากรต่าง ๆ จากการประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศย์กองทัพบก ช่อง 5 ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของกองทัพบก
ดังนั้น หากจะดำเนินกิจการใด ๆ ย่อมจะต้องผ่านความเห็นชอบหรือการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีด้วย
เมื่อกองทัพบกมิได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทโดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นการดำเนินการที่ไม่รอบคอบ ตามระเบียบหรือกฎหมายโดยเคร่งครัด
หมายเหตุ ภาพพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร จาก https://www.thairath.co.th/