เปิดแผน ‘คมนาคม’ ลุยดัน 8 โปรเจ็กต์ใหญ่ส่งท้ายปี 2566 ‘มอเตอร์เวย์-ระบบราง’ ‘สุริยะ’ เซ็นต่อขยายโทลล์เวย์-มอเตอร์เวย์บางขุนเทียนถึงบางบัวทอง เข้าไลน์ ครม.แล้ว คาด ม.ค. 67 พิจารณา ก่อนตีปิ๊บลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 3 สาย ชงครม.ต้นปี 67 ก่อนลุ้นต่อขยายสายสีแดงรังสิต-ธรรมศาสตร์ เข้าวาระครม. 28 พ.ย. 66 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ในช่วงสิ้นปี 2566 ถึงต้นปี 2567 นี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์จำนวน 8 โครงการ วงเงินรวม 213,919 ล้านบาท โดยเน้นไปที่การลงทุนในระบบมอเตอร์เวย์จำนวน 2 โครงการ และระบบรางอีก 6 โครงการ
@เซ็น 2 มอเตอร์เวย์ 8.7 หมื่นล้าน เข้าไลน์ครม.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นปี 2566 นี้ โครงการลงทุนสำคัญที่จะผลักดันต่อไปคือ 2 โครงการของกรมทางหลวง (ทล.) วงเงินรวม 87,393 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5) ระยะทาง ระยะทาง 22 กม. วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท (ค่างานโยธา 30,125 ล้านบาท ค่าเวนคืน 78 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,155 ล้านบาท) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร วงเงิน 56,035 ล้านบาท
โดยทั้ง 2 โครงการนี้ได้เสนอถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามขั้นตอนจะต้องรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง เป็นต้น โดยการรับฟังความจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน คาดว่าจะนำเสนอ ครม.พิจารณาได้ในเดือนม.ค. 2567
แนวเส้นทางของต่อขยายโทลล์เวย์ (ดูภาพด้านล่างประกอบด้วย) แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับทางยกระดับอุตราภิมุขที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของถนนพหลโยธิน) และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยตรงกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ครอบคลุมพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 7 แห่ง ดังนี้
1) จุดเชื่อมต่อ บริเวณด่านฯ รังสิต 1
2) จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ รังสิต 2
3) จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ คลองหลวง
4) จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ ม.ธรรมศาสตร์
5) จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ นวนคร
6) จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ วไลยอลงกรณ์
7) จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ ประตูน้ำพระอินทร์
แนวเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5)
ที่มา: กรมทางหลวง (ทล.)
ส่วนมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง (ดูภาพด้านล่างประกอบ) แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ด้านทิศใต้, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว และทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง มีทางขึ้น – ลง พระราม 2 ทางขึ้นเชื่อมกับถนนเอกชัย ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และถนนนครอินทร์ ทางแยกต่างระดับบางใหญ่เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี จากนั้นแนวเส้นทางทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านสถานีตลาดบางใหญ่ สถานีคลองไผ่ บางบัวทอง และสิ้นสุดโครงการบริเวณห่างจากทางแยกต่างระดับบางบัวทองประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาร 38 กิโลเมตร โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 14 แห่ง ดังนี้
1) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน
2) จุดขึ้น-ลงพระราม 2
3) จุดขึ้นเอกชัย
4) จุดขึ้นกัลปพฤกษ์
5) จุดขึ้น-ลงเพชรเกษม
6) จุดขึ้น-ลงพรานนก-พุทธมณฑล
7) จุดขึ้น-ลงบรมราชชนนี
8) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี
9) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับศรีรัช
10) จุดขึ้น-ลงนครอินทร์
11) จุดขึ้น-ลงบางใหญ่
12) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางใหญ่
13) จุดขึ้น-ลงบางบัวทอง
14) จุดเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน
แนวเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง
ที่มา: กรมทางหลวง (ทล.)
@ดันทางคู่ 3 สาย แสนล้านบาท
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นอกจากการผลักดัน 2 โครงการของกรมทางหลวงแล้ว รัฐบาลกำลังผลักดันรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 3 เส้นทาง วงเงินรวม 104,791.39 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 55 กม. วงเงินโครงการ 7,864.49 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท ดยคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในช่วงต้นปี 2567
ทั้งนี้ ในส่วนของช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ เนื่องจากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการได้รับความเห็นชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 ซึ่ง EIA มีอายุ 5 ปี หรือจะหมดอายุวันที่ 1 ส.ค. 2566 ดังนั้น จึงต้องมีการสอบถามไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่ารายงาน EIA ฉบับเก่ายังใช้ได้หรือไม่ ประกอบกับการศึกษาออกแบบ เป็นโครงการรถไฟทางคู่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ฯไม่เห็นด้วยและให้รฟท.ทบทวนโครงการใหม่ โดยถอดระบบไฟฟ้าออก และปรับให้เป็นรถไฟทางคู่เหมือนโครงการอื่นๆ แทน เพื่อความเหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า โดยรฟท.กำลังสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาต่อไป
@ลุ้นแดง ‘รังสิต-ธรรมศาสตร์’ เข้าครม. 28 พ.ย.นี้
นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ยังมีโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,448.69 ล้านบาท ที่ได้เสนอไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในวันที่ 28 พ.ย. 2566 นี้
ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีแดงอีก 2 ช่วง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท เสนอไปที่ สลค.แล้วเช่นกัน อยู่ระหว่างการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอไปที่ เลขาฯครม. ได้ในเร็วๆนี้
ที่มาภาพปก: โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ