นักวิเคราะห์สหรัฐฯ ตั้งคำถามเหตุใดไทยยังไม่ส่งตัว 'เสอ จื้อเจียง' ให้จีน ขณะที่เจ้าตัวพยายามสร้างภาพว่าเป็นเหยื่อสิทธิมนุษยชน จี้ทางการไทยทำมากขึ้นแก้ปัญหาอาชญากรรม ฉ้อโกง ชี้ นทท.จีนไม่กล้ามาไทยเพราะมองเป็นศูนย์กลาง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยหรือ FCCT นายเจสัน ทาวเวอร์ นักวิเคราะห์จากสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ (USIP) ได้บรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์ฉ้อโกงในภูมิภาค ระบุว่าการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในระดับ "ระดับอุตสาหกรรม" ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมา ลาว กัมพูชา และที่อื่น ๆ และสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับผู้คน "หลายหมื่นคน" ซึ่งคนพวกนี้ถูกบังคับโดยการข่มขู่เพื่อให้ไปฉ้อโกงเงินคนอื่นๆ
นายทาวเวอร์ที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้อย่างแตกฉาน มีประสบการณ์ทำงานในเมียนมามาเป็นเวลามากกว่าสิบปี และได้ศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะผิดกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งขององค์กรอาชญากรรมจีนได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “การเชือดหมู” ที่หมายถึงวิธีปฏิบัติงานของกลุ่มนักต้มตุ๋นเชิงดิจิทัลจากประเทศจีน
นายทาวเวอร์กล่าวถึงกรณีที่ทางการไทยได้จับกุมตัวนายเสอ จื้อเจียง นักธุรกิจด้านการพนัน และหัวหน้าองค์กรอาชญากรรมชาวจีนที่เมืองชเวก๊กโก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยนายเสอนั้นถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 หรือก็คือกว่าปีครึ่งแล้ว แต่ที่น่าสงสัยคือทำไมเขาไม่ถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังประเทศจีน
“นายเสอดูเหมือนจะพยายามใช้แผนอื่น โดยแสดงภาพตัวเองว่าเป็นเหยื่อสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่ามีคนพยายามฆ่าเขาหลายครั้ง” นายทาวเวอร์กล่าวและกล่าวย้ำว่า “ทำไมเขา (นายเสอ จื้อเจียง) ถึงถูกควบคุมตัวไว้ไม่รู้จบได้นานขนาดนี้”
นักวิเคราะห์จากสหรัฐฯกล่าวต่อไปด้วยว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเขาตั้งข้อสังเกตุว่าปรากฎวิดีโอบน TikTok เกี่ยวกับกิจกรรมอาชญากรรม การค้าอวัยวะมนุษย์ และนักท่องเที่ยวชาวจีนก็กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพวกเขาในประเทศไทยเพราะนอกจากเรื่องกราดยิงแล้วก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการฟอกเงิน ขบวนการฉ้อโกง ซึ่งใช้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่ง
“มีปัญหาร้ายแรงมากเกี่ยวกับการจัดการชายแดนในประเทศไทย และ เหยื่อการค้ามนุษย์หลายหมื่นคนจากทั่วทุกมุมโลกมีส่วนเกี่ยวข้องเนื่องจากมีประชากรตกเป็นเป้าหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ" นายทาวเวอร์กล่าว
นายทาวเวอร์กล่าวว่ามีกรณีของการที่เหยื่อได้ขายสกุลเงินดิจิทัลให้กับคนแปลกหน้าที่พบในช่องทางออนไลน์จากระทั่งในที่สุดพวกเขาก็เสียเงินจำนวนมากและหมดตัว
“หน่วยงานทั้งหมดเหล่านี้จําเป็นต้องดําเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น จําเป็นต้องมีความเป็นผู้นํามากขึ้น – มันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทย” นายทาวเวอร์กล่าว
นักวิเคราะห์สหรัฐฯ กล่าวต่อโดยตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้จริงๆต้องการความเป็นผู้นำในระดับโลกมาแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะปัญหามันมีความซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากมันโยงไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงกลุ่มประชาสังคม ช่องว่างในการกำกับดูแลและการทุจริต ทุกอย่างทำให้กิจกรรมอาชญากรรมดังกล่าวดำเนินต่อไปได้
“ที่จีนมีการปราบปรามครั้งใหญ่กับกลุ่มฉ้อโกงในช่วงปีนี้ โดยการปราบปรามของจีนมุ่งเน้นไปถึงอาชญากร เจ้าพ่อรายใหญ่ แต่เรายังเห็นการตอบสนองกับเรื่องนี้ที่น้อยมาก โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย” นายทาวเวอร์กล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.asiafinancial.com/big-tech-doing-little-to-counter-rampant-scams-on-social-media