DSI ลุยค้นอีก 2 บริษัทห้องเย็น สมุทรสาคร ขยายผลจากคดีนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน 161 ตู้ พบตอขนาดใหญ่ แยกเลขคดีส่ง ป.ป.ช.
สำนักข่างอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำหมายศาลอาญา เลขที่ 1416/2566 ลงวันที่ 20 พ.ย. 2566 เข้าตรวจค้นห้องเย็นและที่ทำการบริษัท ขณะที่ หมายศาลอาญา เลขที่ 1416/2566 ให้มีอำนาจเข้าตรวจค้นที่บริษัท รักชัยห้องเย็น สาขาสินชัย และบริษัทในเครือ เลขที่ 57/37 ม. 4 ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ขณะเข้าทำการตรวจค้น พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมตรวจค้นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจค้น ไม่พบชิ้นส่วนเนื้อหมูซากหมูที่เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษ ที่ 59/2566 แต่อย่างใด แต่สามารถยึดอายัดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรับฝากซากหมู ในปี 2564 จำนวนมาก แต่ในปี 2565 ไม่มีเอกสาร ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและเอกสารที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนเคลียคลายคดี หมูสำแดงเท็จ 161 ตู้ ที่ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ส่งผลให้สามารถชี้ชัดสรุปประเด็นว่า เป็นการสำแดงเท็จ
ขณะที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับหนังสือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามโดยนางสาวนางสาวธนาพร จีนจะโปะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด่วนที่สุด ที่กษ.0100/12121 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ระบุข้อความว่า
เรื่อง ขอเข้าพบเพื่อหารือแนวทางในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านการเกษตร ที่ผิดกฎหมาย เรียน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออก สินค้าด้านการเกษตรที่ผิดกฎหมาย ทั้งสินค้าด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอนำคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อหารือ แนวทางในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านการเกษตรที่ผิดกฎหมาย และการบูรณาการ
การดำเนินงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. โดยมีรายนามผู้เข้าร่วมการหารือ ดังนี้ 1. พันเอก รวิรักษ์ สัตตบุสย์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3. นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ 4. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร 5. นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
แหล่งข่าว หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 59/2566 เปิดเผยว่า ตั้งแต่โอนย้ายมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำคดีพิเศษหลายคดีมาหลายคดียังไม่มีคดีไหนที่มีความกดดันเหมือนคดีนี้ทั้งๆที่ทำคดีใหญ่มามากกว่านี้ก็ยังไม่ถูกกดดันแต่อย่างใด “ปกติการประชุมคดีจะไม่มีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ คณะพนักงานสอบสวนในคดีเข้าร่วมประชุมหรือมาฟังการประชุม เพราะความลับในสำนวนการสอบสวนจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ และเป็นแนวทางปฎิบัติตามหลักการกันมาตลอด ที่สำคัญคดีนี้การสืบสวนสอบสวนพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของการนำเข้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฉพาะทาง
ในวันพรุ่งนี้จะประชุมร่วมกันของคณะพนักงานสอบสวนเพื่อลงความเห็นทางคดี เพราะกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ.ศ.2561 ระบุไว้ว่า หากพบเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต้องส่งสำนวนการสอบสวนนี้ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก่อน ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ประชุมกันแล้วจะส่งกลับมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อ หรือ ป.ป.ช.จะรับไว้ทำเองก็เป็นอำนาจของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.และจากเรื่องนี้ยังพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังบอกสาธารณะชนให้รับรู้ว่าจะขอรายละเอียดการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่างานใหญ่ซากหมูที่เข้ามาจำนวนมากกว่า 2,385 ตู้ ถ้าไม่ใช่ขบวนการใหญ่ ตอใหญ่ แล้ว จะทำได้หรือ จึงจะสื่อสารให้ทราบว่า ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องการข้อมูลไปอ่าน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้แตกฉานก่อนและอีกประเด็นจะถามว่าที่เคลือนไหวกันอยู่เข้าข่ายแทรกแซงการสอบสวนหรือไม่ประการใด ” แหล่งข่าวกล่าว