กลุ่มพันธมิตรต้านสแกมจากเนเธอร์แลนด์เผยไทยติดอันดับ 2 ดัชนีฉ้อโกง กลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบเหตุฉ้อโกงมากสุดมาจากโทรศัพท์ถึง 59 เปอร์เซ็นต์ อีก 27.8 เปอร์เซ็นต์มาจาก SMS ขณะเหยื่อเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์แจ้งเจ้าหน้าที่แล้วว่าถูกฉ้อโกงแต่ไม่เคยได้การชดเชย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์การฉ้อโกงที่มีผลเกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศไทยว่า พันธมิตรต่อต้านการหลอกลวงทั่วโลก (GASA) จากเนเธอร์แลนด์ ได้มีการจัดอันดับประเทศต่างๆที่พบกิจกรรมการฉ้อโกงหรือสแกมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศไทยนั้นพบว่าอยู่ในอันดับที่สองของภูมิภาค
รายงานระบุว่านับแต่ปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศในเอเชียได้พยายามนําการดําเนินงานของเศรษฐกิจและผู้คนเข้าสู่สภาพแวดล้อมดิจิทัล สิ่งนี้ทําให้เกิดกิจกรรมการหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยฮ่องกงมีสัดส่วนการหลอกลวงออนไลน์สูงที่สุด โดย 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในฮ่องกงกล่าวว่าพวกเขาพบการฉ้อโกงทุกวัน และ 26 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาพบการฉ้อโกงทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ
ประเทศไทยเองก็พบว่าไทยมีสัดส่วนความถี่การฉ้อโกงสูงเป็นอันดับสองโดย 16 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพบการฉ้อโกงทุกวันและ 30 เปอร์เซ็นต์พบกิจกรรมการฉ้อโกงทุกสัปดาห์
ในทางตรงกันข้ามความถี่ของกิจกรรมการฉ้อโกงในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินโดนีเซียและประเทศจีนค่อนข้างต่ำ
จากข้อมูลของนาย Jorij Abraham ของโครงการ GASA ระบุว่าช่องทางการโทรศัพท์และข้อความ SMS ยังคงเป็นช่องทางการฉ้อโกงพบบ่อยที่สุด
“การโทรและการส่งข้อความ SMS สแกม เป็นสองช่องทางสแกมยอดนิยมสูงสุดในพื้นที่ 8 จาก 11 ประเทศที่ได้มีการสำรวจ” รายงานระบุ
รายงานว่า GASA ระบุอีกว่า แอปพลิเคชั่น Whosecall ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นสมาร์ตโฟนสัญชาติไต้หวัน โดย บริษัท Gogolook ที่ใช้สำหรับรายงานหมายเลขโทรเข้าที่ไม่รู้จัก ได้เปิดเผยตัวเลขว่า จํานวนการโทรและข้อความฟิชชิ่งที่คนเอเชียได้รับเพิ่มขึ้นจาก 8.9 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2565 ซึ่งหมายถึงอัตราการเติบโตต่อปีที่ 29.8 เปอร์เซ็นต์
ในประเทศไทย 88 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่านักต้มตุ๋นเข้าหาพวกเขาทางโทรศัพท์ 59 เปอร์เซ็นต์ ผ่าน SMS และ 27.8 เปอร์เซ็นต์ ผ่านแอปพลิเคชั่นส่งข้อความ OTT
ในทุกประเทศที่สํารวจยกเว้นจีน เฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในห้าแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการหลอกลวงสูงสุด
ในประเทศไทยอัตราความเสี่ยงการหลอกลวงที่ผู้ใช้ต้องเผชิญเมื่อใช้เฟซบุ๊กคือ 47.3 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขคือ 40.4 เปอร์เซ็นต์สําหรับไลน์, 10.6 เปอร์เซ็นต์สำหรับ Gmail 9.2 เปอร์เซ็นต์สําหรับ TikTok 6.1 เปอร์เซ็นต์สำหรัอินสตราสแกรม และ 5.1เปอร์เซ็นต์สําหรับ Google
สถานการณ์การฉ้อโกงที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การฉ้อโกงผ่านการช้อปปิ้ง (17.9เปอร์เซ็นต์) การโจรกรรมข้อมูล (15.2 เปอร์เซ็นต์) การหลอกลงทุน (9.1 เปอร์เซ็นต์) การหลอกลวงให้จ่ายค่าค้างชำระ บิลต่างๆ (9.1 เปอร์เซ็นต์) และการฉ้อโกงโดยหลอกว่าติดต่อมาจากหน่วยงานรัฐบาลหรือธนาคาร (8.8 เปอร์เซ็นต์)
เหยื่อเกือบ 22 เปอร์เซ็นต์ในไทยกล่าวว่าพวกเขาไม่ว่ากำลังถูกฉ้อโกงในขณะที่ 19.6 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นเหยื่อเนื่องจากถูกล่อลวงด้วยแรงจูงใจหรือข้อเสนอน่าสนใจ ประมาณ 17.7 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะยอมรับความเสี่ยง และ 15.9 เปอร์เซ็นต์ด้วยเหตุผลอื่นๆ
ขณะที่มีผู้เสียหายจำนวน 68.8เปอร์เซ็นต์ได้รายงานเหตุการณ์ฉ้อโกงแล้วแต่ไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายใดๆกลับคืนมา ส่วนอีก 23.5 ไม่ได้รายงานเหตุ และมีแค่ 3.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รายงานเหตุและสามารถทวงคืนความเสียหายไปทั้งหมดกลับมาได้
เรียบเรียงจาก:https://files.gogolook.com/2023-asia-scam-report.pdf