ศาลแพ่งสั่ง 16 จำเลย ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 415 ล้านบาท คดีร่วมกันซื้อขายหุ้น POLAR ในลักษณะอำพรางการซื้อขาย ชักจูงให้บุคคลทั่วไปที่เข้าใจผิดเข้าซื้อหุ้น ให้ยกฟ้อง ‘ธีระชัย รัตนกมลพร’
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลแพ่ง (ศาลชั้นต้น) ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ พ 2870/2564 คดีหมายเลขแดงที่ พ 5926/2566 ลงวันที่ 6 พ.ย.2566 ซึ่งเป็นคดีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายยรรยงค์ อินทรสงเคราะห์ กับพวก เป็นจำเลย ในข้อหาร่วมกันซื้อขายหลักทรัพย์ของ บมจ.โพลาริส แคปปิตัล หรือ หุ้น POLAR ในลักษณะอำพรางการซื้อขาย
โดยการส่งคำสั่งซื้อขายจับคู่กันเองและผลักดันราคาอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก อันมีลักษณะเป็นการกระตุ้นและชักจูงให้บุคคลทั่วไปที่เข้าใจผิดหรือหลงผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น POLAR เข้าทำการซื้อขายหลักทรัพย์ POLAR ตามจำเลยทั้ง 17 ส่งผลให้การซื้อขายหุ้น POLAR ในช่วงที่เกิดเหตุมีสภาพการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด อันความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ทั้งนี้ ศาลแพ่งพิพากษาให้ นายยรรยงค์ อินทรสงเคราะห์ (จำเลยที่ 1) , นายเอกวิชญ์ กมลเทพา (จำเลยที่ 3) ,นายศิร์วสิษฎ์ สายน้ำผึ้ง (จำเลยที่ 4) ,นางวรณัน เลิศกุลธรรม (จำเลยที่ 5) , นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล (จำเลยที่ 11) ,นางสาวพัชรา มาสอน (จำเลยที่ 12) ,นางสาวพรพรรณ สะระบุญมา (จำเลยที่ 13) , นายตรีขนิษฐ์ มากรักษา (จำเลยที่ 15) และนายธิติพัฒน์ ธิติพันธุ์ (จำเลยที่ 16) ชำระค่าปรับทางแพ่งคนละ 500,000 บาท
นายระวีโรจน์ เขียนนิลศิริ (จำเลยที่ 2) ชำระค่าปรับทางแพ่ง 96,226,432 บาท , นายภาณุรักษ์ แสงอร่าม (จำเลยที่ 6) ชำระค่าปรับเป็นเงิน 112,500,000 บาท , นางสาวกรรณิดา ตั้งกิจตรงเจริญ (จำเลยที่ 7) ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 44,280,000 บาท ,ให้นายกรวิช อัศวกุล (จำเลยที่ 8) ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 41,200,000 บาท ,ให้นายภควันต์ วงษ์โอภาสี (จำเลยที่ 9) ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 3,780,000 บาท
ให้นายสุวิทย์หรือกองเอก สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล (จำเลยที่ 10) ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 99,440,686 บาท ,ให้นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ (จำเลยที่ 14) ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 13,515,994 บาท ให้แก่โจทก์ (ก.ล.ต.) รวมเป็นค่าปรับทางแพ่งทั้งสิ้น 415,443,112 บาท พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 ถึง 16 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนนายธีระชัย รัตนกมลพร (จำเลยที่ 17) นั้น ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง
“…การที่กลุ่มจำเลยมีพฤติกรรมสลับกันส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องในช่วงเวลาเกิดเหตุ อันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างมีรูปแบบ ทำให้เห็นได้ว่า เกิดจากความตั้งใจในการส่งคำสั่งซื้อขายของกลุ่มจำเลย มิใช่ความบังเอิญที่เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง
ดังนั้น แม้โจทก์ (ก.ล.ต.) จะไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 16 ได้นัดแนะ ตกลงกันส่งคำสั่งซื้อขายหรือแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร แต่พฤติกรรมการส่งคำสั่งที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.45 จ.278 และ วจ.1 ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ที่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 16 มีการร่วมกันส่งคำสั่งไม่เหมาะสมในลักษณะอำพรางการซื้อขาย
แม้ว่าในช่วงเกิดเหตุ 135 วัน จำเลยแต่ละคนไม่ได้ส่งคำสั่งซื้อขายต่อเนื่องทุกวัน และจำเลยบางคนส่งคำสั่งซื้อหรือขายเพียง 1 หรือ 2 วัน ใน 135 วัน แต่หากมีพฤติการณ์ที่จำเลยคนหนึ่งหรือหลายคน สลับสับเปลี่ยนกันเข้าไปส่งคำสั่งซื้อขายจับคู่ ผลักดันราคา แตกย่อยคำสั่งซื้อขาย หรือคำสั่งอื่นๆ ในลักษณะไม่เหมาะสม
ส่งผลเป็นการกระตุ้นตลาดทำให้นักลงทุนอื่นหลงเชื่อว่ามีการซื้อขายหุ้น POLAR ปริมาณมากและหลงเข้ามาซื้อขายหุ้น POLAR ตามกลุ่มของจำเลยจนปริมาณการซื้อขายหุ้น POLAR ในช่วงเกิดเหตุเกิดสภาพผิดปกติ ก็เป็นเหตุให้รับฟังได้ว่า เป็นการร่วมกับจำเลยคนอื่นในการกระทำความผิด
เช่น จำเลยที่ 15 ซึ่งส่งคำสั่งขายหลักทรัพย์เพียง 1 วัน ในวันที่ 17 กันยายน 2557 จำเลยที่ 15 นำหุ้นเพิ่มทุน PP ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 1,300,000,000 หุ้นเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยแตกย่อยคำสั่งละ 500,000-2,000,000 หุ้น รวม 1,180 คำสั่ง จับคู่ซื้อขายกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และ ที่ 7 การซื้อขายจับคู่และแตกย่อยคำสั่งซื้อขาย เป็นการร่วมกันสร้างปริมาณซื้อขายเพื่อลวงให้นักลงทุนอื่นเข้าใจว่ามีการซื้อขายหุ้นPOLAR จำนวนมากและตามเข้ามาซื้อ
สอดคล้องกับมูลเหตุจูงใจในการสร้างปริมาณการซื้อขายหุ้น POLAR ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยในกลุ่มหลายคนเป็นผู้ได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน PP ของ บมจ.POLAR จำนวนมาก จึงประสงค์จะนำมาขายในตลาด จึงต้องร่วมกันสร้างปริมาณลวงเพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนอื่นเข้ามาซื้อขาย
และในที่สุดกลุ่มของจำเลยสามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ทั้งหมด ดังที่นายอิศราพยานจำเลยที่ 5 ได้ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หุ้นที่มีปริมาณซื้อขายมากหรือมีการส่งคำสั่งซื้อขายจำนวนมากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาซื้อขายหุ้นตัวนั้น
การกระทำของกลุ่มจำเลย ทำให้หุ้น POLAR มีปริมาณการซื้อขายผิดปกติไปจากก่อนช่วงเกิดเหตุอย่างมาก และไม่สอดคล้องกับดัชนีการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ (SET) และดัชนีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน (Prop sector)
และเมื่อนำปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของหุ้น POLAR ในช่วงเกิดเหตุกับช่วงก่อนเกิดเหตุเปรียบเทียบกัน ก็พบว่าในช่วงเกิดเหตุมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 695 เป็นปริมาณที่สูงขึ้นผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ
นางสาวอารยา และนางศิริวรรณ พยานโจทก์ทั้งสองปาก ต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำหน้าที่ตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติ และมีประสบการณ์ตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่า 10 ปี หลังจากนางสาวอารยาตรวจสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติของหุ้น POLAR ในเบื้องต้นแล้ว ยังมีคณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตรวจสอบ ก่อนจะสรุปความเห็น ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 16 ร่วมกันส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม และรายงานไปยังโจทก์ (ก.ล.ต.)
เมื่อโจทก์ได้รับรายงานจากตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังมีการตรวจสอบในเชิงลึก โดยใช้ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มของจำเลยในด้านต่างๆ ประกอบการพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพฤติกรรมการร่วมกันส่งคำสั่งไม่เหมาะสมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 16 ดังที่ปรากฎในเอกสารหมาย จ.45 จ.278 และ วจ.1 นั้น เกิดจากการกระทำของจำเลย 3 กลุ่ม ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน
พยานหลักฐานที่นำสืบโจทก์มาจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 16 ร่วมกันส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ หรือซื้อหรือขายหลักทรัพย์ อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ หรือซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในลักษณะต่อเนื่องกัน
โดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้น ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559 มาตรา 244/3 (1) (2) ประกอบมาตรา 244/5
ส่วนจำเลยที่ 10 และที่ 14 แม้จะไม่ได้ส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเอง แต่จำเลยที่ 10 และที่ 14 ให้ถ้อยคำยอมรับกับโจทก์ (ก.ล.ต.) ว่าจำเลยที่ 10 ซื้อขายหุ้น POLAR ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 12 และที่ 13 ส่วนจำเลยที่ 14ยอมรับว่าซื้อขายหุ้น POLAR ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 15 และที่ 16 ข้อเท็จริงตามทางนำสืบโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 10 และที่ 14 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ถึง 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 16
สำหรับจำเลยที่ 17 โจทก์นำสืบว่าซื้อขายหุ้น POLAR ผ่านบัญชีหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 15 โดยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 50,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.206 แผ่นที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 15 โดยจำเลยที่ 17 อ้างว่าเป็นเงินที่จำเลยที่ 14 กู้ยืม แต่จำเลยที่ 17 ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมมาแสดงต่อโจทก์ และในช่วงเวลาเดียวกับที่จำเลยที่ 17 ให้จำเลยที่ 14 กู้ยืมเงินนั้น จำเลยที่ 14 มีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากจำนวน 200,000,000 ถึง 400,000,000 บาท จึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 14 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 17
และจากการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 15 กับจำเลยที่ 17 พบว่า จำเลยที่ 17 เป็นเจ้าของบริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยที่ 15 เคยทำงานในบริษัทของจำเลยที่ 17 ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 15 นำเงินจำนวน 50,000,000 บาท ที่ได้รับจากจำเลยที่ 17 ไปรวมกับเงินจำนวน 8,500,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.204 ที่จำเลยที่ 17 สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 14 ไปชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน PP ของบมจ.POLAR จำนวน 1,300,000,000 หุ้น
แล้วนำหุ้นดังกล่าวไปขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 และเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 จำเลยที่ 15 ได้โอนเงินผลประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 43,942,141 บาท ให้แก่จำเลยที่ 17 นั้น
เห็นว่า ในช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 15 เข้าไปส่งคำสั่งขายหุ้นเพียง 1 วัน คือในวันที่ 19 กันยายน 2557 โดยนำหุ้น PP ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 1,300,000,000 หุ้นไปขายและขายหมดภายในวันเดียว ได้รับผลประโยชน์เป็นเงิน 19,385,629.17 บาท โจท (ก.ล.ต.) ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยที่ 15 ได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 17 แต่กลับปรากฎว่าในวันที่ 26 กันยายน 2557 วันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 15 โอนเงินจำนวน 43,942,141 บาทให้แก่จำเลยที่ 17 นั้น จำเลยที่ 15 ยังได้โอนเงินอีกส่วนหนึ่งจำนวน 37,370,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 14 ด้วย
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 15 กับจำเลยที่ 14 ปรากฏว่ามีความสนิทสนมนับถือกันเป็นบิดา-บุตรบุญธรรม บ้านที่จำเลยที่ 15 พักอาศัยอยู่ในรั้วเดียวกับจำเลยที่ 14 จำเลยที่ 14 และจำเลยที่ 15 เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์วันเดียวกัน และจำเลยที่ 14 ยอมรับกับโจทก์ว่าใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 15 เป็นบัญชีนอมินี ในทางกลับกันตามทางนำสืบโจทก์ ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 17 เคยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 15 เป็นบัญชีนอมินีมาก่อน
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 15 กับจำเลยที่ 17 นอกจากที่ปรากฎในหลักฐานการเปิดบัญชีตามเอกสารหมาย จ.67 หน้า 47 ที่จำเลยที่ 15 เขียนข้อความว่าทำงานที่บริษัท ดิทโต้ฯ และบริษัท เดอะลอร์ด พาเลซ โฮเต็ล แอนด์สปา โจทก็ไม่มีหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 15 มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับจำเลยที่ 17 ทั้งจำเลยที่ 17 ก็ปฎิเสธว่าจำเลยที่ 15 ไม่เคยเป็นพนักงานของบริษัท ดิทโต้ฯ
ทำให้เชื่อว่าเงินจำนวน 50,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 17 สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 15 เป็นเงินที่จำเลยที่ 14 กู้ยืม จำเลยที่ 14 ได้นำเงินดังกล่าวรวมกับเงิน 8,500,000 บาท ให้จำเลยที่ 14 ซื้อหุ้น PP นำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 14 เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มิใช่จำเลยที่ 17
เนื่องจากหากจำเลยที่ 17 เป็นผู้ลงทุนในการซื้อหุ้น PP เมื่อจำเลยที่ 15 ขายหุ้น PP ได้กำไร ก็น่าจะโอนผลกำไรให้แก่จำเลยที่ 17 ด้วย แต่จำเลยที่ 15 กลับโอนเงินให้จำเลยที่ 17 เพียง 43,942,141บาท น้อยกว่าเงินลงทุน
ทางนำสืบของจำเลยที่ 17 ที่อ้างว่าเงินจำนวน 50,000,000 บาท เป็นเงินที่ให้จำเลยที่ 14 ยืม มีน้ำหนักรับฟังได้ แม้จำเลยที่ 17 ไม่มีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงโดยให้เหตุผลว่าเป็นการกู้ยืมเงินระยะสั้นและไม่คิดดอกเบี้ย โดยจำเลยที่ 14 แลกเช็คเป็นประกัน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยของนักธุรกิจที่เชื่อถือในเครดิตของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตามทางนำสืบโจทก์ (ก.ล.ต.) ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 14 เป็นเจ้าของกิจการโรงแรมมีธุรกิจซื้อขายพระเครื่องและวัตถุโบราณ
จึงมีความเป็นไปได้ที่จำเลยที่ 17 จะเชื่อถือในเครดิตของจำเลยที่ 14 และให้กู้ยืมเงินโดยแลกเช็คเป็นประกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ จึงยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 17 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง...” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ พ 2870/2564 คดีหมายเลขแดงที่ พ 5926/2566 ลงวันที่ 6 พ.ย.2566 ระบุ
อนึ่ง สำหรับคดีนี้ จำเลยทั้ง 16 ราย ยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้