‘เศรษฐา’ เผยยังไม่มีแผนสำรอง ถ้าดิจิทัลวอลเลตไปไม่รอด ขอบคุณ ‘ก้าวไกล’ ที่เสนอความเห็นดีๆ แย้มปลายเดือน พ.ย.นี้ จะแถลงมาตรการแก้หนี้ครั้งใหญ่ ด้าน ‘จุลพันธ์’ สำทับไม่มีแผนสำรอง ยอมรับเสนอ พ.ร.บ.มีความเสี่ยงแต่ตรงไปตรงมาที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 พ.ย.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมเดอะริทซ์คาร์ลตัน นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเตรียมแผนสำรองหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทไม่ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทยอย่างเดียวที่กังวล แต่ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาสะสมมาโดยตลอดในเรื่องของจีดีพีที่ไม่เติบโตมานาน ทุกคนมีความเป็นห่วงว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเคยพูดไปแล้วว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤตและมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเลต ถือเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้น และมั่นใจว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามย้ำ กรณีที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่าไม่ขัดขวางนโยบายแจกเงินดิจิทัล แต่หากรัฐบาลเดินหน้าต่อควรมีแผนสำรองเตรียมไว้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่อยากจะบอกว่ามีแผนสำรองอย่างไร แต่รัฐบาลเราทำงานโดยมีหลายมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วันนี้โฟกัสเรื่องดิจิทัลวอลเลต และที่ผ่านมารัฐบาลแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีขั้นตอนชัดเจน อีกทั้งต้องคอยฟังทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และขออนุมัติจากรัฐสภา ที่ชัดเจนออกมาด้วย
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล หวังว่าความเห็นที่พรรคได้สะท้อนออกมา ที่มีหลายเรื่องเห็นต่างอยากให้รัฐบาลมองอย่างไม่มีอคติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่มีอคติอยู่แล้ว ยืนยันว่าน้อมรับทุกคำแนะนำ หากเกิดอะไรขึ้น ก็แก้ไขปรับปรุงได้ และเชื่อมั่นว่านโยบายดิจิทัลวอลเลต มีความชัดเจนในการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ต้องขอบคุณความเห็นดีจากพรรคก้าวไกล
@แถลงมาตรการแก้หนี้ใหญ่ ปลาย พ.ย.นี้
ส่วนกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งจะคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ที่ยังชำระไม่หมดให้กลับไปคำนวณเงินต้น และลูกหนี้ที่ชำระมากกว่า 150% สามารถหยุดจ่ายหนี้ได้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า นี่เป็นเรื่องนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยรวมของรัฐบาลนี้ ทั้งหนี้กยศ. หนี้ครู หนี้นอกระบบ และเอสเอ็มอีที่ติดมาตรา 21 เป็นเรื่องที่ไม่อยากจะพูดเรื่องเดียว แต่ในช่วงปลายเดือนนี้หรือประมาณ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะมีแถลงข่าวใหญ่ถึงมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่กยศ. อย่างเดียว แต่จะรวมทุกภาคส่วนเท่าที่จะสามารถทำได้
ขณะที่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค วันที่ 15 พ.ย.นี้ นายเศรษฐาระบุว่า ประเทศไทยจะผลักดันรื่องเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ไทยผลักดันมาตั้งแต่การประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเราผลักดันมาต่อเนื่อง
นอกจากนั้นผลักดันการค้าขาย ในการเดินทางมาที่สหรัฐอเมริกาบอกว่าประเทศไทยพร้อมเปิดรับนักลงทุนและไม่มีเวลาใดที่ดีเท่าเวลานี้ ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี พลังงานสะอาด สภาพความเป็นอยู่ เป็นหน้าที่ของตนที่จะบอกให้ทั่วโลกรู้ว่าเราพร้อมเปิด และในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค จะหารือกับผู้นำออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา และ รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทสำคัญให้สหรัฐฯไปลงทุนข้ามชาติในประเทศไทย
@ออก พ.ร.บ.กู้เงิน เหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่มีแผนสำรอง
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาทว่า เป็นเรื่องที่ดี ช่วยกันเป็นห่วง รัฐบาลจะได้ดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลมองว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีความเหมาะสม มีความตรงไปตรงมา ได้รับความตรวจสอบจากรัฐสภา และเป็นเรื่องที่ดีหากมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระก่อนที่จะดำเนินการเพื่อให้รัฐบาลได้ดำเนินการได้อย่างสบายใจเพื่อให้ประชาชน
เมื่อถามว่า มีแผนสำรองหรือไม่ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านสภา นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่มี เมื่อถามย้ำว่าหลายคนมองว่านโยบายดิจิทัลวอลเลต ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องจีดีพีในระยะยาวได้นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ อย่างแรกคือ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นด้วยกลไกที่เป็นตัวเงินผ่านระบบดิจิทัล และมีเงื่อนไขกำหนดก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่มากกว่าแน่นอน ส่วนการเดินหน้าในเรื่องของพ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ต้องเป็นห่วง แต่อาจจะมีคนสงสัย และเป็นมุมมองทางข้อกฎหมายที่แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับการตีความและรัฐบาลมีหน้าที่ในการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน
"ปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลไม่ได้มองมิติเพียงแค่เฉพาะหน้า แต่รัฐบาลมองถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่เรารับทราบกันดีทุกฝ่ายว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ถดถอย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้ดูดีแบบในอดีตที่ผ่านมา เรามีความจำเป็นจะต้องพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีความเข้มแข็งเพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไป" นายจุลพันธ์กล่าว
เมื่อถามว่าหากพ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่สภาฯ แล้วไม่ผ่านจะเกิดความเสี่ยงทางการเมืองหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ต้องยอมรับว่ากลไกนี้ต้องไปตรงมาที่สุด ถ้าใช้วิธีการอื่น เช่น มาตรา 22 ก็จะมีการครหาว่าจะเป็นการหลบเลี่ยงหรือไม่ วิธีการนี้ตรงไปตรงมา นำเข้ามาพูดคุยกันก่อนแล้วจึงบังคับใช้เป็นกฎหมายที่เป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุด ส่วนความเสี่ยงทางการเมืองเรามีความเชื่อมั่นเสียงของฝั่งรัฐบาล จริงๆฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธนโยบายแต่อาจจะมีข้อสงสัยในกระบวนการ แต่ในข้อเท็จจริงทุกคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบาง
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำให้ออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้จริงหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อถามถึงกรณีหากมีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 245 ให้องค์กรอิสระมีส่วนในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนยินดี การตรวจสอบเป็นเรื่องดี ตนพร้อมที่จะไปชี้แจงวันนี้เราพร้อมแล้ว เพราะโครงใหญ่เริ่มชัดเจนและเราตอบได้ทุกประเด็น ส่วนจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ก็เป็นมุมมองของแต่ละคน ในขณะเดียวกันเราชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัย ให้กับองค์กรอิสระที่มีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้รัดกุมทำให้เราไม่ได้อยู่ในความประมาทและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เมื่อลดข้อกังวลแล้วอีกประการก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม วันนี้เรามีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบบางประเด็น ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอแนะจากสังคมและนักวิชาการทั้งสิ้น เราพยายามปรับให้โครงการดิจิทัล 10,000 บาท ประสบความสำเร็จสูงสุดและมีความเหมาะสมกับสภาพสังคม ทั้งนี้ ไม่กังวลหากหลายคนมองว่าโครงการนี้เป็นการตั้งธงล้มรัฐบาล และยืนยันว่าไม่มีการทยอยจ่ายแน่นอน