ป.ป.ช.แจง 'วัชระ' ส่งหนังสือให้กระทรวงการคลังดำเนินการทวงเงิน 'ทักษิณ' ชดใช้ค่าเสียหายคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ รบ.เมียนมา 4 พันล้าน ตามคำสั่งศาลฎีกาฯนักการเมืองแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ได้แจ้งข้อมูลผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชน พรรคประชาธิปัตย์
นายวัชระกล่าวว่าตามที่ได้ส่งหนังสือทวงถามการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ป.ป.ช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้านบาท แล้วหรือไม่นั้น
ต่อมานายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 9 รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 8 พ.ย. 2566 ยืนยันต่อ นายวัชระ เพชรทอง ว่าสำนักงาน ป.ป.ช. (โจทก์) ได้มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ชดให้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ไปแล้ว
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งหลักฐานยืนยันมาเป็นหนังสือลงวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ป.ป.ช. ได้มีการส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ปช 1129/1355 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ระหว่าง ป.ป.ช. (โจทก์) และ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่า จำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี ส่วนประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่ เพียงใด นั้น ขณะยื่นฟ้อง เมื่อปี พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 73/1 วรรคหนึ่ง (เดิม) กำหนดวิธีเรียกค่าเสียหายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)) เห็นชอบที่จะต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้จำเลยชดใช้ความเสียหายนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลังเข้ามาในคดีนี้ได้ จึงต้องยกคำขอส่วนนี้ ซึ่งบัดนี้คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอเรียนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับทราบคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว และมีมติให้แจ้งผลคดีดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยความเสียหายที่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยต่อไป
นายวัชระ เพชรทอง กล่าวว่าวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.)จะส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลังและนายเศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลต่อไป.