สื่ออิสราเอลชี้ รัฐบาลอิสราเอลไม่เคยดูแล-ติดต่อญาติคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน เผยที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติถูกกีดกันจากสังคมอิสราเอล-แนะ รบ.ไทยมีจุดยืนเพื่อแรงงานให้ชัดเจนในการทำข้อตกลงทวิภาคี ขณะตัวเลขตัวประกันไทยล่าสุดแตะ 25 รายแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ตัวประกันไทยในสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและกองทัพอิสราเอลว่า
สำนักข่าว Forward ซึ่งเป็นสื่ออิสราเอลได้นำเสนอรายงานตอนหนึ่งระบุว่าครอบครัวของตัวประกันแรงงานไทยไม่เคยได้รับการติดต่อจากรัฐบาลอิสราเอลเลยนับตั้งแต่เกิดเหตุลักพาตัว ซึ่งการบาดเจ็บล้มตายของแรงงานต่างชาติในอิสราเอลนั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าจะต้องมีการคุ้มครองทางกฎหมายกับแรงงานต่างชาติให้มากขึ้น โดยปัจจุบันแรงงานเหล่านี้ถูกปฎิบัติเหมือนกับชนชั้นสอง และในสถานการณ์ที่ถูกจับเป็นตัวประกันก็แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย
สื่ออิสราเอลรายงานอีกว่าแรงงานข้ามชาติมักไม่มีสิทธิ์ได้รับสัญชาติอิสราเอลและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางทหาร พวกเขาไม่มีสิทธิมีเสียงและไม่มีอาวุธ ทําให้พวกเขาอ่อนแอเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่เลวร้าย แต่รัฐบาลอิสราเอลได้พยายามเสริมสร้างข้อกําหนดด้านถิ่นที่อยู่และสัญชาติเพื่อให้คนงานเหล่านั้นสร้างบ้านถาวรที่อิสราเอลได้ยากขึ้น
“การปรากฎตัวของแรงงานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาปัจจุบันอย่างหนึ่งก็คือความพยายามของอิสราเอลในการจะใช้แรงงานข้ามชาติเพื่อรักษาเศรษฐกิจเอาไว้ แต่ก็กีดกันในการเข้าถึงสังคมอิสราเอล” สื่ออิสราเอลระบุ
สื่ออิสราเอลคาดการณ์ต่อว่าการปะทุของสงครามครั้งนี้จะไม่หยุดกระแสแรงงานข้ามชาติไปยังอิสราเอล แต่ในทางกลับกันมันจะเพิ่มความต้องการของแรงงานข้ามชาติด้วยซ้ำ เพราะกองกำลังสำรองของอิสราเอลถูกดึงตัวออกจากภาระที่มีต่อครอบครัวเพื่อไปยังแนวหน้า แล้วพอกองกำลังสำรองพวกนี้กลับมาพวกเขาก็จะมีความต้องการรูปแบบใหม่ ซึ่งก็คือความต้องการแรงงานที่จะมาเป็นผู้ดูแลสมาชิกในครอบครัว
โดยย้อนไปเมื่อปี 2564 เมื่อความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ปะทะฟิลิปปินส์ได้ออกคำสั่งห้ามชั่วคราวสำหรับแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่จะไปทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในประเทศอิสราเอล แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนฟิลิปปินส์ก็ต้องยกเลิกคำสั่งนี้
สื่ออิสราเอลระบุทิ้งท้ายว่าประเทศอย่างไทยและฟิลิปปินส์ควรต้องมีการเสริมสร้างจุดยืนเพื่อแรงงานระบุลงไปในข้อตกลงทวิภาคีกับอิสราเอล ยกตัวอย่างเช่น ในข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานไทยในภาคการเกษตร มีคำแนะนำว่าให้มีการทดสอบด้านสุขภาพและการให้บริการทางด้านสุขภาพจิต (ที่ถูกแปลภาษาแล้ว) แก่แรงงานเหล่านี้ รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษที่มากขึ้นสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
“ความขัดแย้งนี้แสดงความจำเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องมีการปฏิรูปหลักปฏิบัติที่ทำต่อแรงงานผู้อพยพ” สื่ออิสราเอลระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ของแรงงานไทยในอิสราเอลโดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ระบุว่ามีคนไทยเสียชีวิตแล้ว 34 ราย มีผู้บาดเจ็บที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4 ราย และมีผู้ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน 25 ราย (เพิ่มขึ้น 1 รายตามการยืนยันเพิ่มเติมของทางการอิสราเอล)
เรียบเรียงจาก:https://forward.com/opinion/568751/israel-migrant-workers-hostage-crisis-gaza-thailand/