พาณิชย์สหรัฐฯ ออกประกาศระงับออกใบอนุญาตส่งออกอาวุธปืนเป็นการชั่วคราวไปต่างประเทศ รวมถึงตลาดอาวุธปืนที่ไทยด้วย -กระทรวงแจงหวังลดความเสี่ยงอาวุธปืนถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวนโยบายการส่งออกอาวุธปืนของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยว่าเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งระงับการส่งออกอาวุธปืนส่วนใหญ่ที่ผลิตในสหรัฐฯ คิดเป็นเวลา 90 วัน และตอนนี้กำลังทบทวนนโยบายเรื่องการสนับสนุนการค้าปืนครั้งใหญ่ในประเทศว่าจะ ว่าจะ "ไม่บ่อนทําลายผลประโยชน์ด้านนโยบายของสหรัฐฯ" ซึ่งการดำเนินการระงับการส่งออกดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ชะลอการเติบโตของยอดขายปืนของสหรัฐฯในต่างประเทศเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ
กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศระงับเป็นการชั่วคราว สำหรับการอนุมัติใบอนุญาตส่งออกฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้กับอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติและไม่อัตโนมัติที่จะถูกส่งออกให้กับหน่วยงานต่างๆซึ่งไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลในต่างประเทศ ซึ่งการระงับการอนุมัตินี้จะไม่ส่งผลต่อการส่งออกอาวุธไปยังประเทศยูเครนและอิสราเอล และอีกกว่า 40 ประเทศที่มีส่วนร่วมกับสหรัฐฯ ในข้อตกลงควบคุมการส่งออกแบบพหุภาคีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามประกาศระงับการออกใบอนุญาตส่งออกนี้กระทบกับตลาดที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ สำหรับปืนจากสหรัฐฯ ซึ่งตลาดที่ว่านี้ก็ได้แก่ประเทศบราซิล,ไทย และกัวเตมาลา
“จะมีการทบทวนมาตรการอย่างเร่งด่วนและการทบทวนนี้จะช่วยให้กระทรวงสามารถประเมินและลดความเสี่ยงของอาวุธปืนที่ถูกโอนไปยังหน่วยงานต่างๆหรือจะไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ส่งเสริมความไม่มั่นคงในภูมิภาคละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการกระทำความผิดทางอาญาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” กระทรวงพาณิชย์ระบุในประกาศระงับเป็นการชั่วคราว
แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวอย่างใด ดังนั้นจึงมีโอกาสว่ากระทรวงอาจจะย้อนมาใช้นโยบายสนับสนุนการค้าแบบเดิมได้เช่นกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามไปยังกระทรวงเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมถึงมีการออกประกาศระงับใบอนุญาตส่งออกชั่วคราว ทางกระทรวงกลับปฏิเสธที่จะตอบคำถามในประเด็นนี้ และปฎิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวการทบทวนงานแสดงการค้าอาวุธในประเทศ
ทั้งนี้ปืนจากสหรัฐฯจำนวนมากพบว่าถูกส่งออกไปยังประเทศที่มีอาชญากรรมจากอาวุธปืนพุ่งสูงมาก และถูกส่งออกไปยังประเทศที่มีลักษณะการปกครองเป็นเผด็จการ ซึ่งที่ผ่านมาประธานาธิบดีจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างก็สนับสนุนนโยบายการขายปืนเหล่านี้ อย่างไรก็ตามนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตบางคนเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการขายปืนเหล่านี้บ้างแล้ว
โดยฝ่ายนิติบัญญัติตั้งคําถามอย่างรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนในขั้นตอนการซักถามของรัฐสภาสองครั้งเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎในปี 2563 ในขณะที่พรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสเพิ่งเปิดตัวพระราชบัญญัติการตรวจสอบการขายอาวุธระดับภูมิภาคของอเมริกา (ARMAS) ซึ่งเป็นกฎหมายที่พยายามขัดขวางการค้าอาวุธปืนจากสหรัฐอเมริกาไปยังละตินอเมริกาและแคริบเบียน