สื่อสหรัฐฯชี้ปัญหาแรงงานเถื่อนที่อิสราเอลเป็นเหตุทำตัวประกันไทยถูกจับจำนวนมาก เผยนโยบายกีดกันแรงงานปาเลสไตน์ทำให้อิสราเอลต้องจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ตัวประกันคนไทยที่ถูกจับในการสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสและกองทัพอิสราเอลว่าสำนักข่าว Quartz ของสหรัฐอเมริกาได้รายงานบทความเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมถึงมีตัวประกันไทยถูกจับเป็นจำนวนมากตอนหนึ่งระบุว่า
แรงงานไทยในอิสราเอลส่วนมากแล้วมาจากภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย โดยคนงานเหล่านี้จ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงมากผิดปกติให้หน่วยงานต่างๆที่ทำหน้าที่จัดหาแรงงานเพื่อหางานทําในอิสราเอล แต่เมื่อมาถึงอิสราเอล หลายคนพบเงื่อนไขที่แตกต่างจากที่คาดไว้ ในขณะที่ความพยายามในการปฏิรูประบบรวมถึงข้อตกลงทวิภาคีระหว่างไทยและอิสราเอลที่ลงนามในปี 2556 เริ่มมีผลบังคับใช้บ้างแล้ว แต่ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศก็ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนงานไทย
"ผู้ค้ามนุษย์หาทางให้คนงานชายหญิงของไทยต้องทำงานใช้แรงงาน ด้วยเงื่อนไขชั่วโมงการทํางานที่ยาวนาน ไม่มีการหยุดพักหรือวันพักผ่อนแต่อย่างใด นอกจากนี้หนังสือเดินทางของแรงงานไทยก็ถูกระงับ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยก็ไม่ดีและยังมีความยากลําบากในการเปลี่ยนนายจ้างเนื่องจากข้อจํากัด ในใบอนุญาตทํางาน” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุในรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในปี 2565
ขณะที่นายมาตัน คามิเนอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮิบรูวกล่าวว่า แรงงานไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการส่งออกพืชผลของประเทศอิสราเอล ขบวนการต่อต้านในหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่ต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลอิสราเอลในขณะนั้นได้เลือกนโยบายเพื่อจํากัด แรงงานปาเลสไตน์ในอิสราเอลและแทนที่แรงงานเหล่านั้นด้วยแรงงานข้ามชาติจากประเทศอื่น ๆ
ส่วนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยระบุในรายงานปี 2565 ว่าการตัดสินใจของอิสราเอลในการจ้างแรงงานจากทั่วโลกเน้นย้ำให้เห็นถึงความซับซ้อนและต้นทุนของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยตอนนี้การว่างงานในฉนวนกาซาสูงถึง 47% จึงได้มีการเรียกร้องให้อิสราเอลอนุญาตแรงงานปาเลสไตน์ทำงานในอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทําให้อิสราเอลชะลอการอนุญาตให้ใบอนุญาต แต่ ILO ประเมินว่ามีแรงงานที่ไม่มีเอกสาร 30,000 ถึง 40,000 คนได้ข้ามกําแพงกั้นระหว่างเวสต์แบงก์และอิสราเอลในปี 2564
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับข้อมูลตัวเลขล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนตัวประกันไทยที่ถูกจับโดยกลุ่มฮามาส ยังคงมีความไม่ชัดเจน โดยสื่ออิสราเอลรายงานข่าวว่ากลุ่มฮามาสมีตัวประกันไทยกว่า 54 คน ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวยืนยันว่าจำนวนตัวประกันไทยอยู่ที่ 18 คน
เรียบเรียงจาก:https://qz.com/why-so-many-hamas-hostages-are-from-thailand-1850963541