พรรคร่วมรัฐบาลแจง รัฐบาลมีนโยบายอยู่แล้ว-หลายเรื่องขัดแย้งกับความคิดของพรรคการเมือง หลังโหวตคว่ำญัตติทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ครั้งที่ 26 มีการลงคะแนนเสียงในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชน ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยผลการลงคะแนนเสียงในญัญติข้างต้น ไม่ผ่าน เนื่องจากมีจำนวนผู้เห็นด้วย 162 คน ไม่เห็นด้วย 261 คน งดออกเสียง 6 คน จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 429 คน
ภายหลังการประชุม สส.พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวชี้แจงที่ไม่โหวตเห็นด้วยกับญัตติข้างต้น
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประการที่ 1 เรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องการทำประชามติ เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการด้านนี้ขึ้นมา โดยมีรองนายก มีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ขณะนี้ตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ชุดแรกให้ศึกษาจำนวนการทำประชามติ ชุดที่สองศึกษารายละเอียดและแนวทางหลังจากทำประชามติ ที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"สิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่มีหลักประกันว่ารัฐบาลคงทำจริง ทำแน่ ที่ผมเรียนเช่นนั้นเพราะว่ารัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล สื่อมวลชนคงทราบดี วันแถลงนโยบายก็มีเรื่องของนโยบายการทำรัฐธรรมนูญ เรื่องของประชามติ แต่ขณะเดียวกันการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกก็มีการออกมติครม.ให้ทำประชามติตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้ โดยหลักแล้วคิดว่าซึ่งที่รัฐบาลทำก็น่าจะเดินหน้าต่อไป" นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ญัตติที่ฝ่ายค้านนำเสนอไม่ถึงที่สิ้นสุด เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านอ้างกฎหมายประชามติมาตรา 9 (4) ที่เขียนว่า เมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบให้เสนอรัฐบาลเพื่อไปทำประชามติ รัฐสภาในที่นี้ต้องประกอบด้วย สส. และสว. แม้เราจะมีมติโดยประการใดก็ตาม มตินั้นต้องนำไปส่งสว. ถ้าเราเห็นชอบให้ส่งมตินั้นไป แล้วสว.ไม่เห็นชอบ ท้ายที่สุดก็ไปสู่รัฐบาลไม่ได้ ประการสำคัญขอเรียนว่ารัฐบาลบอกว่ายินดีรับฟังเต็มที่ ตอนนี้อยู่ในช่วงรับฟังความเห็นจากส่วนต่าง ๆ คิดว่ารัฐบาลเปิดกว้างเช่นนี้ก็สามารถส่งความเห็นไปให้รัฐบาลได้ไม่จำเป็นต้องผ่านพ.ร.บ.ประชามติ ให้รัฐบาลไปรวบรวมประมวลแล้วตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร
"ต้องเรียนว่าพวกเราที่มาที่นี่เห็นด้วยว่า 1.ต้องทำประชามติ 2.ต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพียงแต่วิธีการทำเราคิดว่าทำโดยรัฐบาลไปได้ดีแล้ว แล้วคงจะสำเร็จ เนื่องจากประสบการณ์การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา ถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วย ถ้าสว.ไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีทางสำเร็จ เราเชื่อว่านิมิตรหมายอันนี้เราคิดว่านำไปสู่ความสำเร็จของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถามว่าทำไมมติในวันนี้ถึงไม่ส่ง เหตุผลเป็นอย่างที่ผมกราบเรียนไปแล้ว และมีข้อสำคัญคือ มีหลายเรื่องในญัตติที่มีความขัดแย้งกับความคิดเห็นของพรรคการเมืองส่วนใหญ่และความคิดเห็นของรัฐบาลที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่ขัดแย้งมากที่สุดคือการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมีความหมายอย่างไร ความหมายของผู้เสนอญัตติมีความหายว่าแก้ได้ทุกเรื่องทุกหมวด แต่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เราจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่รวมหมวด1 หมวด 2 นี่คือข้อสำคัญ และรัฐบาลก็ประกาศจุดยืนมาแล้วก่อนหน้านี้" นายชูศักดิ์ กล่าว
นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ญัตติเกี่ยวกับการทำประชามติ ผลการลงคะแนนก็เป็นไปอย่างที่ทุกท่านทราบ ญัตติเรื่องนี้ทางวิปรัฐบาลได้ประชุมถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคิดว่าจะเอาญัญติอื่นมาพิจารณา โดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านมีโอกาสพูดในสภาเช่นวันนี้ แต่การประชุมวิปรัฐบาลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ อาจกล่าวล่วงไปว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใส่ใจเรื่องการทำประชามติและไม่ใส่ใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ