คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศชื่อและอาการโรคติดต่ออันตราย ปรับนิยาม 'วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก'-คิกออฟ 8 พ.ย. เริ่มฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส ใน 100 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ
-
ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การเพิ่มเติมผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐในคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก พ.ศ. .... สำหรับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ ด่านท่าเรือตำมะลัง และด่านพรมแดนวังประจัน จ.สตูล เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างมีประสิทธิภาพ
-
ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. .... ตามที่ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญวัณโรคดื้อยาระดับประเทศเห็นชอบ โดยปรับอาการสำคัญของวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 13 ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ว่า “กรณีวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก” ซึ่งเป็นวัณโรคที่มีการดื้อยาหลายขนานร่วมกัน ได้แก่ ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อาจจะดื้อต่อไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ด้วยหรือไม่ก็ได้ และดื้อต่อกลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) ได้แก่ ลีโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin) ม็อกซิฟล็อกซาซิน (Moxifloxacin) อย่างน้อยหนึ่งขนานและดื้อต่อยา เบดาควิลีน (Bedaquiline) หรือไลเนโซลิด (Linezolid) อย่างน้อยหนึ่งขนาน มีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือมีอาการตามอวัยวะที่ติดเชื้อ สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
“ได้ย้ำในที่ประชุมว่า แม้อุบัติการณ์วัณโรคจะลดลงจากในอดีตมากแล้ว แต่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กำหนดให้ยุติวัณโรค ภายในปี 2573 ซึ่งถ้าเราบริหารจัดการวัณโรคที่ยังพบผู้ป่วยปีละประมาณ 1 แสนรายได้ โดยร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง จะแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคนในประเทศไทย โดยการปรับอาการสำคัญของวัณโรคดื้อยาหลายขนาดชนิดรุนแรงมาก จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย รักษา และควบคุมโรค ทำให้สูตรยารักษาถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญวัณโรคดื้อยา สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญ” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าในการเสนอร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย หากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและกว้างขวางและเป็นหรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ หรือการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง เนื่องจากในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า มาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันควบคุมโรคทั้งโรคติดต่อที่อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีและดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป
คิกออฟ เริ่มฉีดวัคซีน HPV ฟรี 1 ล้านโดส 8 พ.ย. นี้
นอกจากนี้ ยังติดตามเรื่องการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตามนโยบายเร่งรัด 100 วัน ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้จะมีการลงนามประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยจะรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ให้แก่นักเรียนหญิงชั้น ป.5 - อุดมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงผู้หญิง อายุ 11 - 20 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา แบ่งเป็น การฉีดวัคซีนนักเรียน (School based) วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2566 จะคิกออฟวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี และทุกเขตสุขภาพอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และฉีดกลุ่มอายุ 18 - 20 ปี ช่วงธันวาคม 2566 - มกราคม 2567
“การจัดสรรและจัดส่งวัคซีน แบ่งเป็น วัคซีนจาก สปสช. ให้บริการกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์ ชั้น ป.5 ม.1-2 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (Cecolin) และ 4 สายพันธุ์ (Gardasil) จำนวน 784,368 โดส ทยอยจัดส่งถึงพื้นที่ตุลาคม - ธันวาคม 2566 และวัคซีนจากกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นวัคซีนบริจาคจากสภากาชาดไทย 400,000 โดส และวัคซีนสำรองส่วนกลาง 200,000 โดส ให้บริการเก็บตกในกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์ที่วัคซีน สปสช.ไม่เพียงพอ และกลุ่มนอกสิทธิประโยชน์ อายุ 18-20 ปี เริ่มจัดส่งเดือนตุลาคม 2566 และยังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก สำหรับผู้หญิง อายุ 30-60 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายมะเร็งครบวงจร ภายใต้กรอบแนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง” และสอดคล้องกับสโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ Women Power No Cancer” นพ.ชลน่านกล่าว
โดยในวันเดียวกันนี้ นพ.ชลน่าน ยังได้เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร และรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านเข็มใน 100 วัน สำหรับผู้หญิงอายุ 11- 20 ปี ภายใต้แนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง”
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โรคมะเร็ง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี ในปี 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 9,000 ราย และพบผู้เสียชีวิตประมาณ 4,700 ราย สาเหตุมาจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus หรือ HPV ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะหากฉีดตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 93-95 ส่งผลให้ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ในผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยกำหนดเป้าหมายการฉีด 1 ล้านเข็ม ภายใน 100 วัน ตามนโยบายยกระดับ 30 บาท และ Quick Win “มะเร็งครบวงจร - วัคซีน HPV”
“ทุกหน่วยงานพร้อมใจกันประกาศความร่วมมือในการเดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ทั้งการรณรงค์เชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการ และจัดการให้บริการที่เข้าถึงได้สะดวก โดยจะมีการคิกออฟฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังสนับสนุนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุ 30-60 ปีด้วย เพื่อช่วยให้สตรีไทยปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูกได้มากขึ้นด้วย” นพ.ชลน่านกล่าว