'กุลธนิต มงคลสวัสดิ์' อธิบดีอัยการ เซ็นตั้ง 3 อัยการที่ปรึกษาคดีกำนันนก-พวกยิงตำรวจ 'กุลธนิต' นั่งหัวหน้าคณะทำงาน ดึง 'วัชรินทร์ ภาณุรัตน์' อัยการเอฟบีไอร่วมคณะ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้มีคำสั่งสำนักงานการสอบสวนที่ 31/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเข้าให้คำแนะนำปรึกษาในการสืบสวนสอบสวน คดีกำนันนกกับพวกใช้ให้ผู้อื่นฆ่าพ.ต.ต.ศิวกร สายบัว โดยแต่งตั้งพนักงานอัยการคณะทำงาน ดังนี้
1.นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
2.นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นคณะทำงาน
3.ร.ต.อ.อมตะ ชนะพงษ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
รายละเอียดของคำสั่งความว่า ตามที่อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งมอบหมายให้อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หรือผู้ที่ได้รับ มอบหมายจากอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ตามจำนวนที่เห็นสมควรเข้าให้คำแนะนำปรึกษาในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่ 24 และ 25/2566 ของกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม
ตามที่กองบังคับการปราบปรามร้องขอ กรณี นายประวีณ หรือกำนันนก จันทร์คล้ายกับพวก ในความผิดฐาน 'เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา' ตามคดีอาญาของกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม ที่ 24/2566 และกรณี พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ สมสุข อดีตสว.สส.สภ.กระทุ่มแบน กับพวกรวม 6 คน ในความผิดฐาน 'เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการหรือไม่ กระทำการอย่างใด ๆในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง, เพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไป เสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด, ร่วมกันช่วยผู้อื่นซึ่งเป็น ผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนัก แก่ผู้นั้นโดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม' ตามคดีอาญาของกองกำกับการ5 กองบังคับการปราบปราม ที่ 25/2566
เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ มีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคน ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไป คดีมีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นธรรม จึงแต่งตั้งพนักงานอัยการคณะทำงาน ดังนี้
1.นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
2.นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นคณะทำงาน
3.ร.ต.อ.อมตะ ชนะพงษ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 พ.ต.อ. เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม ในฐานะเลขานุการคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนกองกำกับการ 5กองบังคับการปราบปรามได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงานการสอบสวนสำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้มอบหมายพนักงานอัยการร่วมให้คำแนะนำปรึกษาคดี เนื้อหาสรุปว่ากองบังคับการกองปราบปรามได้รับโอนคดีจากสถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐมให้ทำการ สอบสวน กรณีนายประวีณ หรือกำนันนก จันทร์คล้ายกับพวก ในความผิดฐาน เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
และกรณี พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ สมสุข กับพวกรวม 6 คน ในความผิดฐาน 'เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด้ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ช่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำ หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด, ร่วมกันช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระ หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม
สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีนี้คือ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 เวลาประมาณ 21.00 น. นายประวีณ จันทร์คล้าย ซึ่งเป็นกำนันตำบล ตาก้อง ได้จัดงานเลี้ยงที่หน้าบ้าน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายมาร่วมงาน โดยในระหว่างงานเลี้ยงนายประวีณ จันทร์คล้าย ได้มีเหตุโกรธเคืองกับพ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล.ผู้ตาย จึงได้ใช้ให้นายธนัญชัย หมั่นมาก ยิง พ.ต.ต.ศิวกร จำนวนหลายนัดเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมาและกระสุนปืนพลาดไปถูก พันตำรวจโท วศิน พันปี ซึ่งนั่งอยู่ใกล้กันได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พร้อมพวก ได้ร่วมกันทำลายพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุปล่อยตัวนายธนัญชัย หมั่นมาก หลบหนีไปและร่วมกัน นำตัวนายประวีณ จันทร์คล้าย ออกไปจากที่เกิดเหตุ
การกระทำของพ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ กับพวก เป็นความผิดฐาน 'เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือให้ได้รับโทษน้อยลงฯ' และกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่วมกับนายประวีณ จันทร์คล้าย สั่งการให้ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลาย ช่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวเนื่องมาจากคดีความผิดฐาน 'ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, พยายามฆ่าผู้อื่น, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และโดยไม่มีเหตุจำเป็น เร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่า'
โดยพนักงานสอบสวนได้ขอโอนการฝากขังผู้ต้องหาจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มาดำเนินคดียังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์มีความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน กลุ่มผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ เพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ เป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ นายวัชรินทร์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ที่นายกุลธนิตตั้งมาเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาคดีนี้เป็นอัยการสอบสวน เคยร่วมสอบสวนคดีสำคัญจำนวนมาก จบหลักสูตรเอฟบีไอ จากสหรัฐฯโดยล่าสุดพึ่งได้รับเเต่งตั้งเป็นรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด