วงเสวนาเด็กกับอาชญากรรมชี้กรณีเด็ก 14 กราดยิงต้องดูสภาพแวดล้อม พ่อแม่-โรงเรียน-การเสพสื่อ-วิเคราะห์เส้นทางชีวิต มองแบบเชื่อมโยงเพื่อศึกษาออกมาตรการป้องกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 สถาบันนิติวัชร์จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง 'เด็กกับอาชญากรรม อุดมคติ เรื่องจริง สิ่งที่หวัง'
หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวเปิดงานว่า การจัดเสวนาในวันนี้เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีกรณีที่เป็นข่าวโด่งดัง ได้แก่ กรณีเด็กอายุ 14 กราดยิง และกรณีเด็กนักเรียนหญิงกับเพื่อนร่วมกันจับหัวเพื่อนกดน้ำ จากกรณีทั้งสองทำให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง
"การเสวนาในวันนี้เป็นการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ความรับผิดชอบของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวเด็ก ผู้ปกครอง โรงเรียน รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ว่าทำไมปล่อยให้เด็กกระทำผิดเช่นนี้ สาเหตุมาจากอะไร" หม่อมหลวงศุภกิตต์ กล่าว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราสรุปประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
@ ศาสนากับเด็กที่ทำผิด
พระเมธีวัชรบัณฑิต
พระเมธีวัชรบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ กล่าวว่า กรณีเด็กอายุ 14 ปีกราดยิงพารากอน ต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำดังกล่าว รวมถึงวิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ เช่น ครอบครัว โรงเรียน การเสพสื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามไม่ควรมองแค่สาเหตุที่ก่อเหตุ แต่ควรมองไปที่เป้าหมายของเด็ก เป้าหมายของพ่อแม่ และการวางเป้าหมายร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับเด็ก และสุดท้ายก็หาวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายร่วมกัน วิธีที่กล่าวมาข้างต้นสอดคล้องกับหลักอริยสัจ 4 ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการวิเคราะห์กรณีดังกล่าว
"เวลาพูดเรื่องเด็กกับอาชญากรรม อย่าจมกับแค่เรื่องเด็กเท่านั้น เด็กมีไทมไลน์ของเขา มีวงจรชีวิตของเขา ต้องมองตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่เกิด เติบโต แก่เฒ่า จนจบชีวิต การออกแบบชีวิตคนคนหนึ่งต้องออกแบบชีวิตแบบยาว อย่าไปมองแค่ตัดตอน ไม่ได้คิดถึงเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตของเด็ก"
@ เหยื่อยังรวมถึงคนก่อเหตุ
พระเมธีวัชรบัณฑิต กล่าวต่อว่า เวลาที่พูดถึงเหยื่อไม่ได้หมายถึงผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้กระทำด้วย กรณีเด็ก 14 ก็เป็นเหยื่อด้วยเช่นกันเพียงแต่ไม่รู้ตัวเท่านั้น
"ในมุมหนึ่งเด็กที่ไปยิงเขาเป็นเหยื่อของครอบครัวที่ดูแลเขาไม่ดี เป็นเหยื่อของพ่อแม่ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน เป็นเหยื่อของระบบการศึกษาที่ไม่สนใจเรื่อง soft power ไม่สนใจเรื่องจิตใจ สนใจแค่เรื่องร่างกาย สนใจแค่วิชาความรู้ทั่วไป ไม่สนใจเรื่องจิตใจ เพราะเห็นได้ว่าเด็กส่วนใหญ่มีปัญหาโรคทางใจ คนที่ทำให้เด็กคนนี้เป็นเหยื่อคือทุกคนที่อยู่รอบข้าง"
@ เยาวชนกับพุทธศาสนา
พระเมธีวัชรบัณฑิต กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเด็กเป็นผ้าขาว เป็นกลุ่มคนที่วัยอ่อน ใจอ่อน กลุ่มคนที่ต้องได้รับการศึกษา ฝึกฝน ให้โอกาส เวลาที่ผิดพลาดบกพร่องทุกคนพร้อมจะให้โอกาส นี่คืออุดมคติที่สังคมมองเด็ก
"ดังนั้นเวลาที่เด็กทำผิดเรามักจะพูดว่า 'มันยังเด็กอยู่' แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้มองอายุว่าใครเป็นเด็กหรือเยาวชน เพราะเยาวชนในพุทธศาสนาไม่ได้มีการแบ่งอายุ แต่หมายถึงผู้ที่ยังอ่อนอยู่ มีโอกาสทำผิดพลาดบกพร่องได้ทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าอายุ 60 แต่ใจอ่อนก็ยังเป็นเยาวชน"
ความจริงในสังคมที่เกิดขึ้น คือ เมื่อเด็กเหล่านี้ที่ทำผิดพลาด บางคนในสังคมเกิดความเกรี้ยวกราด ล่าแม่มด สืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดไปจนถึงพ่อแม่ของเด็กที่ก่อเหตุ เพราะใช้อารมณ์นำทาง โดยไม่ได้พูดถึงความจริงของความจริง แต่พูดถึงความจริงของความรู้สึก ที่ถูกความรู้สึกพาไป เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็ไม่พูดถึงอีก
"เราจะพบความจริงว่าไฟไหม้ฟางอีกแล้ว ไม่ได้มีการแก้ปัญหาระยะยาว ยอมรับว่าระยะสั้นกับระยะกลางต้องแก้ปัญหา แต่อาตมาอยากเห็นการแก้ปัญหาระยะยาว" พระเมธีวัชรบัณฑิต กล่าว
ดังนั้นการที่กฎหมายหลาย ๆ ฉบับกล่าวถึงการกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำตามที่ไม่ให้ต่ำเกินไปนัก แต่จริง ๆ แล้วควรมองว่าการกำหนดเกณฑ์อายุไม่ควรกำหนดที่อายุ แต่ควรกำหนดที่กิเลส เพราะเด็กบางคนในสมัยนี้โตเกินอายุ อย่าใช้อายุเป็นกรอบว่าอายุเท่านี้จะต้องทำแบบนี้ เพราะถ้าใช้อายุเป็นกรอบจะถูกหลอกได้ง่าย
"สิ่งที่หวัง หวังอยู่ 2 มุม ได้แก่ ก่อนที่เด็กจะทำผิดและหลังเด็กทำผิด โดยก่อนที่เด็กจะทำผิดต้องมาคุยกันในเรื่องกระบวนการในการจัดการครอบครัว การศึกษา กฎหมาย สื่อสำหรับเด็ก และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหมด มีใครบ้างที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กอย่างไร ถ้าเด็กคนนี้เกิดขึ้นมาคนที่อยู่รอบ ๆ จะดูแลเอาใจใส่อย่างไร คิดว่าเรื่องนี้ต้องมีนักกฎหมายต้องเข้ามาดู เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดก่อนที่เด็กจะก่อเหตุกราดยิง การมาดูว่าจะจัดการอย่างไร ทำอย่างไรต่อไป เป็นการมองแค่สิ่งที่ตามมา" พระเมธีวัชรบัณฑิต กล่าว
@ กฎหมายเกี่ยวกับเด็ก
นายวุฒิชัย พุ่มสงวน และ นางสันทนี ดิษยบุตร
นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎหมายระหว่างประเทศ ที่หลายประเทศทั่วโลกร่วมลงนาม คือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child (CRC) โดยกฎหมายนี้จะไม่มีการลงโทษประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต สำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยการจำคุกเด็กเป็นมาตรการสุดท้าย ทุกขั้นตอนกระบวนการพิจารณาต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของเด็ก รัฐจะต้องกำหนดอายุขั้นต่ำของเด็กที่จะไม่ถือว่าไม่มีความผิดทางอาญา ซึ่งประเทศไทยก็พยายามทำตามอนุสัญญามาโดยตลอด
ทั้งนี้ยังมีมาตราฐานระหว่างประเทศอีกหนึ่งมาตรฐาน คือ กฎอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ ว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมเกี่ยวแก่คดีเด็กและเยาวชน หรือกฎปักกิ่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงเกณฑ์อายุขั้นต่ำของเด็กที่กระทำความผิด ในการกำหนดเกณฑ์อายุดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญกับความสำนึกรู้ผิดของเด็ก ซึ่งในการกำหนดอายุขั้นต่ำจะมีเกณฑ์แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี
นอกจากนี้ยังมาตรฐานสากลอีกมาตรฐาน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตราการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติ ที่สนับสนุนให้รัฐสมาชิกไม่กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการรับผิดทางอาญาให้ต่ำเกินไป
นายวุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กฎหมายอาญากำหนดคำว่า เด็ก คือบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี โดยที่อายุ 18 ปียังถือว่าเป็นเด็ก แต่ถ้าพูดถึงคำว่า เด็กกับเยาวชนในแง่การดำเนินคดี จะแบ่ง 3 ประเภท
1. บุคคลอายุไม่เกิน 12 ปี
2. 'เด็ก' อายุมากกว่า 12 ปี ไม่เกิน 15 ปี
3. 'เยาวชน' อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี
"ในมุมองของอัยการ อุดมคติมองว่า กฎหมายที่มีอยู่ใช้เต็มประสิทธิภาพหรือยัง เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมาตรา 26 ที่พนักงานสอบสวนไม่ค่อยได้ใช้งาน จึงฝากถึงอัยการในแต่ละพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบ" นายวุฒิชัย กล่าว
@ แนวทางของรัฐต่อเด็กที่ทำผิด
นางปรีดา วิสาโรจน์
นางปรีดา วิสาโรจน์ ผู้ตรวจราชการกรม กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมพินิจฯมีแนวทางในการทำงาน คือ ให้ความสำคัฐกับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูภายใต้กระบวนการยุติธรรม เมื่อเด็ก-เยาวชนทำผิด จะเน้นพิจารณาสาเหตุในการทำผิด โดยจะไปแก้ที่สาเหตุตามสภาพปัญหาของเด็กแต่ละคน และให้โอกาสเด็กและเยวชานที่ทำผิดให้กลับตัว ปรับปรุงตัวเอง
โดยมี 5 แนวทางดำเนินการของกรมพินิจ ดังนี้
1. หันเหคดีออกจากกระบวนการยุติธรรม ถอนฟ้องในคดีที่ไม่ร้ายแรง โทษไม่เกิน 5 ปี
2. บำบัดแก้ไขฟื้นฟูตามสภาพปัญหาของเด็กแต่ละคน
3. การบำบัดแก้ไขฟื้นฟูแบบไร้รอยต่อ โดยติดตามเด็กหลังปล่อยตัว ประคับประคองให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตในสังคมได้หลังปล่อยตัว
4. จัดการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนที่เข้ามาในสถานพินิจตามหลักสูตรของกศน.เดิม และฝึกวิชาชีพรที่มีความหลากหลายตามความสำคัญของตลาดแรงงาน
5. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการบำบัดฟื้นฟูแก้ไข เช่น ประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพ บริษัทที่รับเด็กและเยาวชนเข้าทำงาน เป็นต้น
"อุดมคติกรมพินิจมองว่า การปฏิบัติและมาตรการลงโทษเด็ก-เยาวชนจึงต้องแตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยใช้วิธีที่เหมาะสม เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ นี่เป็นอุดมคติที่มอง แต่สภาพความเป็นจริงที่เจอจากการทำงานและสังคม ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เหล่านี้ส่งผลให้การทำความผิดของเด็กและเยาสชนรุนแรงกว่าเดิม แต่กรมพินิจยังคงมีแนวทางดูแลเด็กตามอุดมคติดังกล่าว และสิ่งที่ทำเพิ่มเติมในการทำงาน คือ การดำเนินการเชิงป้องกันและบำบัดแก้ไขให้ตรงกับสภาพปัญหาของเด็ก-เยาวชนแต่ละราย และสิ่งที่หวัง คือ เวลาที่มีเด็กทำผิดหรือเด็กที่ผ่านการบำบัดแก้ไขแล้ว หวังว่าเด็กเหล่านั้นจะได้รับโอกาสมีที่ยืนในสังคม เพื่อให้ได้พัฒนาตัวเองต่อไป" นางปรีดา กล่าว