ศาลรัฐธรรมนูญ รอคำชี้แจงหน่วยงานเกี่ยวข้องปม 'พิธา-ก้าวไกล' หาเสียงแก้ ม.112 ล้มล้างการปกครอง /คุณสมบัติ "ศักดิ์สยาม" คดีถือหุ้นบุรีเจริญฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาหารือ กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ... กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งต่อมา ผู้ถูกร้องทั้งสอง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยาน ฉบับลงวันที่ 26 ก.ย. 66
ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาจึงให้รอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวจัดทำความเห็นและส่งเอกสารหลักฐานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาหารือ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 187 หรือไม่
โดยกรณีนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
ผู้ร้องส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17- วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาจึงให้รอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้