คณบดีนิเทศฯ มสธ.เผย อ.พิเศษลอกบทความ กสทช.แสดงความรับผิดชอบ ไม่ต่อสัญญา ด้านเจ้าตัวล้อมกรอบขอโทษ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยันไม่ได้หวังผลประโยชน์-กำไร
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณี อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) รายหนึ่ง คัดลอกบทความจากวารสารวิชาการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2564 และนำมาเผยแพร่เป็นบทความในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ โดยลงชื่อตนเองเป็นผู้เขียน และไม่ได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลและเครดิตจากผู้เขียนต้นฉบับ
โดย กสทช.ได้ทำหนังสือแจ้งถึง มสธ. เพื่อให้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการลงโทษต่อไป ขณะที่ มสธ.ได้ดำเนินการส่งหนังสือตักเตือนไปถึงอาจารย์คนดังกล่าว และยังคงให้ต่อสัญญาจ้างเป็นอาจารย์พิเศษต่อไป
- ร้องเรียน อ.พิเศษนิเทศฯ มสธ.ลอกบทความ กสทช.ใส่ชื่อตัวเองเขียน-โดนโทษแค่ตักเตือน
- ทำในนามส่วนตัว! คณบดีนิเทศฯ มสธ.แจง อ.พิเศษลอกบทความ กสทช.ไม่เกี่ยวสาขา-มหาวิทยาลัย
ความคืบหน้าล่าสุด แหล่งข่าว เปิดเผยว่า อาจารย์พิเศษ สาขานิเทศศาสตร์ คนดังกล่าว ได้ยื่นหนังสือถึงคณบดี ขอไม่ต่อสัญญาจ้าง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าอิศรา ได้ติดต่อไปยัง ผศ.ดร.กานต์ บุญศิริ. ประธานกรรมการสาขาวิชานิเทศศาสตร์ (คณบดี) มสธ. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ผศ.ดร.กานต์ กล่าวว่า เรื่องการไม่ต่อสัญญาจ้าง ขอใช้คำว่าลาออก โดยตนเห็นว่า อาจารย์คนดังกล่าวรักสถาบัน แม้ว่าจะเป็นอาจารย์พิเศษ เขาไม่อยากให้สถาบันเสียชื่อเสียง และได้แสดงความรับผิดชอบ ถือว่าน่าชื่นชม
เจ้าตัวเผยพยายามติดต่อขอโทษเจ้าของบทความแล้ว ชี้รู้เท่าไม่ถึงการณ์
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง อาจารย์พิเศษคนดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อสอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้น
อาจารย์พิเศษแจ้งว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น มสธ. ต้นสังกัดได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้มีการทำหนังสือขอโทษไปยัง กสทช. โดยตนได้น้อมรับความผิดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
นอกจากนี้ ได้มีการลงบทความล้อมกรอบขอโทษในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ ฉบับที่ 413 ปักษ์แรก วันที่ 1 - 15 ตุลาคม 2566 ส่วนบทความที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ส่วนตัว ทั้งหมดไม่ได้ลบ แต่ได้เพิ่มข้อความขอโทษและใส่อ้างอิงให้กับ นายฐิตินันทน์ ผิวนิล เจ้าของบทความแล้ว
ทั้งนี้ ได้พยายามติดต่อไปยังเจ้าของบทความ และจากการสอบถามไปยัง กสทช.พบว่าบทความวิชาการดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ กสทช. แต่ก็ให้เกียรติแก่เจ้าของบทความ โดยได้ติดต่อไปรอพบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต้นสังกัดของนายฐิตินันทน์ พร้อมทั้งได้ทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ แต่ก็ไม่มีการติดต่อกลับมา
"เราก็พยายามทำเต็มที่ เพราะเราไม่มีเจตนาหวังผลประโยชน์หรือผลกำไรอยู่แล้ว ซึ่งผมเขียนบทความนี้มาเกือบสองร้อยฉบับ ไม่คิดว่าพลาดตรงนี้ เพราะได้อ่านวารสาร กสทช.ที่ได้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2562 ที่เป็นการรวบรวมงานวิจัยต่างๆ ซึ่งผมพลาดตรงที่ว่าไม่ได้ใส่เครดิตอ้างอิงของผู้เขียน เขาจึงไปร้องที่กองบรรณาธิการ กสทช.และที่ประชุม" อาจารย์พิเศษ กล่าว
ส่วนในประเด็นเรื่องการไม่ต่อสัญญาจ้าง อาจารย์พิเศษรายนี้ แจ้งว่า ในเบื้องต้น ที่ไม่ต่อสัญญา เนื่องจากเป็นอาจารย์พิเศษกรณีที่ 1 คือเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่อาจารย์ประจำ ตั้งแต่สัญญาแรกอยู่แล้ว การไม่ต่อสัญญาในครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากตนที่มีภาระอื่น ต้องสอนพิเศษในสถาบันอื่น
อปท.นิวส์ ยันไม่มีค่าเรื่องให้ เผยล้อมกรอบขอโทษแล้ว
ด้าน นายชาญวิทยา ชัยกูล บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า นโยบายของหนังสือ อปท.นิวส์ คือการลงบทความที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้ และอาจารย์พิเศษคนดังกล่าว เขียนบทความลง นสพ.อปท.นิวส์ มาตลอด แต่เพิ่งมาทราบทีหลังว่า มีส่วนหนึ่งของบทความเป็นการคัดลอกจากบทความคนอื่น โดยได้รับการประสานจาก กสทช.แจ้งถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงได้มีล้อมกรอบขอโทษคอลลัมน์ของอาจารย์คนดังกล่าว ในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้อาจารย์คนดังกล่าวลงบทความต่อหรือไม่ นายชาญวิทยา กล่าวว่า ยังลงบทความต่อได้ เนื่องจากตนเห็นว่า เป็นความผิดพลาดที่เผลอเรอกันได้ และในกรณีของอาจารย์พิเศษรายนี้ได้ขอโทษไปแล้ว แต่ถ้าเกิดมีการกระทำผิดอีกก็จะต้องมาว่ากันอีกที
"มองว่าเรื่องนี้ในวงการสื่อมีการผิดพลาดกันได้ตลอด เพราะว่าไม่ได้หมิ่นประมาทหรือกล่าวร้ายใคร เป็นแค่การหยิบมาใช้ ดูว่ามันไม่ถูกต้อง ผิดจรรยาบรรณ แต่มองว่าเป็นความผิดที่โอเค ถือว่า ไม่ได้ร้ายแรง ถึงขั้นต้องตัดขาดกัน" นายชาญวิทยา ระบุ